http://www.sisaketedu1.go.th/ | หน้าแรก
       

อุบายฝึกจิตทางลัด ( หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน)
     
 

อุบายฝึกจิตทางลัด หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน

--------------------------------------------------------------------------------

อุบายฝึกจิตทางลัด


เทศน์โปรดคุณเพาพงา วรรธนะกุล ณ วัดป่าบ้านตาด

เมื่อวันที่ ๔ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๑๙


มีผู้ถามปัญหาพอระลึกได้บ้างก็ปัญหา “ปากคอก” นี่แหละ มีอยู่กับทุกคน ว่า “โลกหน้ามีไหม? โลก หน้ากับผู้ไปโลกหน้าโลกหลังอะไรเหล่านี้ มันก็ไม่ใช่เรื่องของใคร แต่เป็นเรื่องของเราทุกคนที่กำลังแบกภาระอยู่นี้ มีผู้ถามอย่างนั้น เราก็ถามเขาว่า “เมื่อวานนี้มีไหม แล้วเมื่อเช้านี้มีไหม? ปัจจุบัน ณ บัดนี้มีไหม?” เขาก็ยอมรับว่ามี “แล้ววันพรุ่งนี้จะมีไหม วันมะรืน เดือนนี้เดือนหน้า ปีนี้ปีหน้า ปีต่อๆ ไปจะมีไหม?


สิ่ง ที่มีมาแล้วพอจำได้ก็พอเดาไปได้ ถึงเรื่องยังไม่มาถึงก็ตาม ก็เอาสิ่งที่จำได้ซึ่งผ่านมาแล้ว มาเทียบเคียงกับสิ่งที่เคยมีเคยเป็นมาแล้ว ข้างหน้าจะต้องเป็นไปตามที่เคยเป็นมานี้ เช่นเมื่อวานนี้มีมาแล้ว วันนี้ก็มี มันเคยผ่านมาอย่างนี้เป็นลำดับ เรารู้และจำได้ไม่ลืม แล้วตอนบ่าย ตอนค่ำ ตอนกลางคืนจนถึงวันพรุ่งนี้เช้า เราก็เคยรู้เคยเห็นมาแล้ว เรื่องมันเป็นมาผ่านมาอย่างนั้นซึ่งไม่มีอะไรผิดกัน และยอมรับว่ามีด้วยกัน


ความสงสัยโลกนี้โลกหน้า หรือเกี่ยวข้องกับตัว ก็คือความหลงเรื่องของตัวนั่นแหละ มันจึงกลายเป็นเรื่องใหญ่โต และกวนใจให้ยุ่งอยู่ไม่หยุดทั่วโลกสงสาร ว่า “โลกหน้ามีไหม? คนตายแล้วไปเกิดอีกไหม?” นั่นมันคู่กัน ก็ที่เกิดที่ตายนี้คือใครล่ะ? ก็คือเรานั่นเองที่เกิดที่ตายอยู่ตลอดมา มาโลกนี้ไปโลกหน้าก็คือเราจะเป็นใคร ถ้าไม่ใช่ “สัตว์โลก” ผู้เป็นนักท่องเที่ยวนี้ ไม่มีใครเป็นผู้แบกหามปัญหาและภาระเหล่านี้!


นี่โทษแห่งความหลง ความจำไม่ได้ มันมาแสดงอยู่กับตัวเรา แต่เราจับสาเหตุของมันไม่ได้ว่าเป็นมาเพราะเหตุใด สิ่งที่เป็นมาที่ผ่านมาแล้วมันก็จำไม่ได้ เรื่องของตัวเลยหมุนตัวเอง พันตัวเอง ไม่ทราบจะไปทางไหน ความหลงตัวเองจึงเป็นเรื่องยุ่งยากอยู่ไม่หยุด

หลงสิ่งอื่นก็ยังค่อยยังชั่ว หลงตัวเองนี้มันปิดตันหาทางออกไม่ได้ ผลก็สะท้อนกลับมาหาตัวเราเองไม่ไปที่อื่น คือนำความทุกข์มาสู่ตัวเรานั่นแล

เพราะความสงสัยเช่นนี้เป็นปัญหาผูกมัดตัวเอง มิใช่ปัญหาเพื่อแก้ตัวเองให้หลุดไปได้เพราะความสงสัยนั้น ถ้าไม่พิสูจน์ด้วยธรรมทางจิตตภาวนาไม่มีหวังเข้าใจได้

พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้คลี่คลายดูเรื่องของตัว แต่การจะคลี่คลายเรื่องของตัวนั้นสำคัญมาก จะทำแบบด้นเดาเอาด้วยวิธีคาดคิด หรือด้วยวิธีอื่นใดไม่สำเร็จได้!นอกจากจะทำคุณงามความดีขึ้นมาโดยลำดับเป็นเครื่องสนับสนุน และย่นเข้ามาสู่ “จิตตภาวนา” เพื่อ คลี่คลายดูเรื่องของตัว อันรวมอยู่ในวงของจิตตภาวนา

ซึ่งจะพาให้รู้แจ้งแทงความสงสัยนั้นให้ทะลุไปได้ พร้อมทั้งผลอันเป็นที่พึงใจ หายสงสัยทั้งการตายเกิดตายสูญ


เรื่องของตัวคืออะไร? ก็คือเรื่องของใจ ใจเป็นผู้แสดง เป็นผู้ก่อเหตุก่อผลใส่ตัวอยู่ตลอดเวลา ทั้งความสุขความทุกข์ ความยุ่งเหยิงวุ่นวายต่างๆ ส่วนมากมักแสดงความผูกมัดตัวเองมากกว่าการบำรุงส่งเสริม ถ้าไม่ใช้ความบังคับบัญชาในทางที่ดี ใจจึงมีแต่ความรุ่มร้อนเป็นผล คือความทุกข์ที่เกิดขึ้นจากความฟุ้งซ่านวุ่นวาย ใจคิดส่ายแส่ไปในแง่ต่างๆโดยหาเหตุหาสาระไม่ได้ แต่ผลที่จะพึงได้รับนั้น มันเป็นสิ่งสำคัญอันหนึ่งที่จะทำให้เราเกิดความทุกข์ความกระทบกระเทือนได้ จึงเป็นเรื่องยากเรื่องหนักสำหรับบรรดาผู้ยังหลงโลกหลงตัวเอง และตื่นโลกตื่นตัวเองอยู่

โดยไม่สนใจพิสูจน์ตัวเองด้วยหลักธรรมอันเป็นหลักรับรองความจริงทั้งหลาย เช่น ตายแล้วต้องเกิดอีก เป็นต้น เมื่อยังมีเชื้อให้งอกที่พาให้เกิดอยู่ภายในใจ ต้องเกิดอีกอยู่ร่ำไปไม่เป็นอย่างอื่น เช่น ตายแล้วสูญ เป็นต้น


พระ พุทธเจ้าท่านทรงสอนให้ดูตัวเรื่อง คือดูใจตัวเองผู้พาให้เกิดตาย ถ้ายังไม่เข้าใจก็ต้องบอกวิธีการในแง่ต่างๆ จนเป็นที่เข้าใจและปฏิบัติได้ถูกต้อง เฉพาะอย่างยิ่งการสอนให้ภาวนา โดยนำธรรมบทใดก็ตามมาบริกรรมภาวนา เพื่อให้จิตดวงที่หาหลักยึดยังไม่ได้ กำลังวุ่นวายหาที่พึ่งยังไม่เจอ จนกลายเป็นความหลงใหลใฝ่ฝันไม่มีประมาณ ได้ยึดเป็นหลักพอตั้งตัวได้ และมีความสงบเย็นใจไม่วอกแวกคลอนแคลน อันเป็นการทำลายความสงบสุขทางใจที่เราต้องการ เช่น ท่านสอนให้ภาวนา “พุทโธ ธัมโม สังโฆ” หรือ “อัฏฐิ เกสา โลมา” บทใดบทหนึ่งตามแต่จริตชอบ

โดยความมีสติควบคุมในคำบริกรรมภาวนาของตน อย่าให้เผลอส่งใจไปที่อื่นจากคำบริกรรมภาวนา เพื่อให้จิตที่เคยส่งไปในที่ต่างๆ นั้น ได้เกาะหรืออาศัยอยู่กับอารมณ์แห่งธรรม คือคำบริกรรมภาวนานั้นๆ ความรู้ที่เคยฟุ้งซ่านไปในอารมณ์ต่างๆ ก็จะรวมตัวเข้ามาอยู่ในจุดนั้น คือจิตซึ่งเป็นที่รวมแห่งความรู้ กระแสแห่งความรู้ทั้งหมดจะรวมตัวเข้ามาสู่อารมณ์แห่งธรรม ที่บริกรรมหรือภาวนาอยู่ด้วยความสนใจ ก็เพราะบทธรรมบริกรรมอันเป็นเครื่องเกาะของจิต เป็นเครื่องยึดของจิต ให้ตั้งหลักขึ้นมา เป็นความรู้อย่างเด่นชัดเป็นลำดับนั้นแล ฉะนั้นขั้นเริ่มแรกของการภาวนา คำบริกรรมจึงสำคัญมาก

เมื่อได้เห็นคุณค่าสารธรรม ที่ปรากฏขึ้นเป็นความสงบสุขเช่นนี้แล้ว ในขณะเดียวกันก็เห็นโทษแห่งความฟุ้งซ่านวุ่นวายของจิตที่หาหลักยึดไม่ได้ และก่อความเดือดร้อนให้แก่ตัวอย่างประจักษ์ใจในขณะนั้น โดยไม่ต้องไปถามใคร คุณและโทษของจิตที่สงบและฟุ้งซ่าน เราทราบภายในจิตของเราเองด้วยการปฏิบัติจิตตภาวนา นี่เป็นขั้นหนึ่งอันเป็นขั้นเริ่มแรกที่ท่านสอนให้รู้เรื่องของจิต


แล้ว พยายามทำจิตให้มีความสงบแน่วแน่ลงไปเป็นลำดับ ด้วยการภาวนากับบทธรรมดังที่กล่าวมานี้ เจริญแล้วเจริญเล่าจนมีความชำนิชำนาญ กระทั่งจิตสงบได้ตามความต้องการ ความสุขเกิดขึ้นเพราะใจสงบก็ยิ่งเด่นชัดขึ้นทุกวันเวลา พอจิตสงบตัวขึ้นมาปรากฏเป็นความรู้เด่นชัดแล้ว ในขณะเดียวกันก็เป็นการรวมกิเลสเข้ามาสู่จุดเดียวกันเพื่อเห็นได้ชัด และสังเกต ความเคลื่อนไหวของมันได้ง่ายขึ้น และสะดวกแก่การแก้การถอดถอนด้วยปัญญา ตามขั้นของปัญญาที่ควรแก่กิเลสประเภทหยาบ กลาง ละเอียด ตามลำดับไป


คำว่า “กิเลส”ซึ่งเป็นเครื่องบังคับจิตใจให้ฟุ้งซ่านไปในแง่ต่างๆ จนคำนึงคำนวณไม่ได้นั้น เราไม่สามารถที่จะจับตัวของมันได้ว่าอะไรเป็นกิเลส อะไรเป็นจิต เป็นธรรม ต้องอาศัยความสงบของใจเป็นพื้นฐานก่อน เมื่อจิตสงบตัวเข้ามา กิเลสก็สงบตัวเข้ามาด้วย เมื่อจิตหดตัวเข้ามาเป็นตัวของตัว หรือเป็นจุดหมายพอเข้าใจได้ เรื่องของกิเลสก็รวมตัวเข้าสู่วงแคบในจุดเดียวกัน คือรวมตัวเข้ามาที่จิต ไม่ค่อยออกเพ่นพ่านก่อกวนจิตใจเหมือนแต่ก่อนที่จิตยังไม่สงบ พอจิตสงบเย็นพอตั้งตัวได้บ้างแล้ว หรือตั้งตัวได้แล้ว จากนั้นท่านสอนให้พิจารณาคลี่คลายดูอาการต่างๆ ของร่างกายอันเป็นที่ซุ่มซ่อนของกิเลสทางด้านปัญญาว่า “จิตไปสนใจกับอะไร?

ในขณะที่ไม่สงบใจไปยุ่งกับเรื่องอะไรบ้าง?” แต่ในขณะที่ใจสงบเป็นอย่างนี้ ไม่ก่อกวนตัวเอง


แต่ ปกตินิสัยของคนเรา พอมีความสงบสบายบ้างมักขี้เกียจ คอยแต่ล้มลงหมอน ไม่อยากคลี่คลายร่างกายธาตุขันธ์ด้วยสติปัญญาเพื่อรู้ความจริง และถอดถอนกิเลสต่างๆ ออกจากใจ โดยไม่คำนึงว่าการละการตัดกิเลสประเภทต่างๆ ที่แทรกสิงอยู่ในกายในขันธ์นั้น ท่านละท่านถอนด้วยสติปัญญา ส่วนความสงบของจิตหรือ “สมาธิ” นั้น เป็นเพียงการรวมตัวของกิเลสเข้ามาสู่วงแคบเท่านั้น มิใช่เป็นการละการถอนกิเลส จึงกรุณาทราบไว้อย่างถึงใจ


ใจ ขณะที่ยังไม่สงบ มักไม่ยุ่งกับรูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส แล้วนำมาเป็นอารมณ์กวนใจ บรรดารูป เสียง ฯลฯ นั้น จิตไปหนักในอารมณ์อะไร ซึ่งพอทราบได้ด้วยสติปัญญา ขณะพิจารณาจิตแสดงออกไปเกี่ยวข้องกับอารมณ์อันใด ก็พอทราบกันได้โดยทางสติปัญญา เรื่องราวของจิตก็พอมองเห็นได้ เพราะจิตเคยสงบ พอเริ่มออกไปสู่อารมณ์ต่างๆ ก็ทราบ ท่านจึงสอนให้พิจารณาคลี่คลายด้วยปัญญาเพื่อให้ทราบว่า สิ่งที่จิตไปเกี่ยวข้องนั้นคืออะไรบ้าง พยายามดูให้รู้ให้เห็นอย่างชัดเจนด้วยสติปัญญาขณะออกพิจารณา เว้นแต่ขณะทำใจให้สงบโดยทางสมาธิก็ไม่พิจารณา เพราะ “สมาธิ” กับ “ปัญญา” นั้นผลัดเปลี่ยนทำงานคนละวาระ ดังที่ได้เคยอธิบายแล้ว


ขณะที่พิจารณา “รูป” คือรูปอะไรที่ใจไปเกี่ยวข้องมากกว่าเพื่อน เพราะเหตุใด? ดูรูปขยายรูป แยกส่วนแบ่งส่วนรูปนั้น ให้เห็นชัดเจนตามความจริงของมัน เมื่อแยกแยะส่วนรูป จะเป็นรูปอะไรก็ตาม ให้เห็นตามเป็นจริงของมันด้วยปัญญา ในขณะเดียวกันก็จะได้เห็นความเหลวไหลหลอกลวงของจิต ที่ไปยึดมั่นถือมั่นสำคัญผิดต่างๆ โดยหาสาเหตุอะไรไม่ได้ หามูลความจริงไม่ได้ เพราะเมื่อพิจารณาละเอียดแล้ว ไม่มีอะไรเป็นสาระตามที่ใจไปสำคัญมั่นหมาย มีแต่ความสำคัญของจิตไปลุ่มหลงเขาเท่านั้น เมื่อพิจารณาแยกแยะส่วนต่างๆ ของร่างกาย “เขา” หรือร่างกาย “เรา” ออกดูโดยละเอียดถี่ถ้วนแล้วไม่เห็นสาระอะไร ใจก็เห็นโทษของความสำคัญมั่นหมาย ความยึดมั่นถือมั่นของใจไปเอง เมื่อพิจารณาหลายครั้งหลายหนเท่าไรก็ยิ่งชัดเจนยิ่งขึ้น ทั้งรูปและเสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัสต่างๆ ทั้งอาการของจิตที่ไปเกี่ยวข้องกับอาการนั้นๆ จนรู้แจ้งเห็นชัดด้วยปัญญา เพราะคลี่คลายอยู่อย่างสม่ำเสมอทั้งภายนอกและภายใน รู้แจ้งเห็นชัดอาการของจิตทางภายในที่ไปเกี่ยวข้องว่า เป็นเพราะเหตุนั้นๆ อันเป็นเรื่องเหลวไหลทั้งเพ


แต่ ก่อนไม่ทราบว่ามันเกี่ยวข้องกันเพราะเหตุไร ต่อมาก็ทราบชัดว่ามันไปเกี่ยวข้องเพราะเหตุนั้นๆ คือเพราะความหลงความสำคัญผิด เมื่อพิจารณาตามความจริง เห็นความจริงในสิ่งภายนอกแล้ว ก็ทราบชัดทางภายในว่า “จิต ไปสำคัญว่าสภาวธรรมต่างๆ เป็นอย่างนั้นๆ จึงเกิดอุปาทานความยึดมั่นถือมั่น หรือเกิดความรักความชังขึ้นมา เป็นกิเลสเพิ่มพูนไปเรื่อยๆ ใจก็ทราบถึงความเหลวไหลของตน


จิต เมื่อทราบว่าตัวเป็นผู้ลุ่มหลงเหลวไหลแล้วก็ถอนตัวเข้ามา เพราะแม้จะฝืนคิดไปยึดมั่นถือมั่น สิ่งเหล่านั้นก็ถูกปัญญาแทงทะลุไปหมดแล้ว ไปยึดมั่นถือมั่นหาอะไร! การพิจารณาทราบชัดแล้วว่าสิ่งนั้นเป็นนั้น สิ่งนี้เป็นนี้ ตามความจริงของแต่ละสิ่งละอย่าง นี่แหละคือวิธีคลี่คลาย “กองปัญหาใหญ่”ที่รวมแล้วเป็นผลคือกองทุกข์ภายในใจ ท่านสอนให้คลี่คลายอย่างนี้


เมื่อ ปัญญาคลี่คลายอยู่โดยสม่ำเสมอไม่ลดละ จนเข้าใจแจ่มแจ้งชัดเจนแล้ว ไม่ต้องบอกให้ปล่อย จิตรู้แล้วปล่อยเอง ย่อมปล่อยเอง จิตที่ยึดคือจิตที่ยังไม่รู้ไม่เข้าใจด้วยปัญญา เมื่อรู้อย่างเต็มใจแล้วก็ต้องปล่อยเต็มที่ ไม่มีอาลัยเสียดาย ความกังวลทั้งหลายที่จิตเคยกังวลเสียดายนั้นก็หายไปเอง เพราะปัญญาสอดส่องมองทะลุเห็นแจ้งเห็นชัดไปหมดแล้วจะไปงมอะไรอีก ปัญหาของใจที่เคยกว้างขวางก็แคบเข้ามา เกี่ยวกับเรื่องต่างๆ ภายนอกก็หมดไป ๆ เข้าทำนองที่เคยเทศน์นั้นเอง


จากนั้นก็มาคลี่คลายดูจิต อันเป็นที่รวมของกิเลสส่วนละเอียดว่า แย็บออกไปหาเรื่องอะไรบ้าง?”และ “แย็บออกไปจากที่ไหน? มีอะไรเป็นเครื่องผลักดันให้จิตคิดปรุงเรื่องต่างๆขึ้นมา?” พอสติปัญญาทันความคิดปรุงที่แย็บออกในขณะนั้น มันก็ดับในขณะนั้น ไม่ถึงกับเป็นเรื่องเป็นราวอะไรขึ้นมาให้ยุ่งยากเหมือนแต่ก่อน เพราะสติทันปัญญาทัน คอยตีต้อนปราบปรามกันอยู่เสมอ เพราะขยับตามร่องรอยแห่งต้นเหตุเข้าไปเรื่อยๆ จนถึง “ต้นตอกิเลส”ว่ามีอยู่ ณ ที่ใดกันแน่ ลูกเต้าหลานเหลนกิเลสมันออกมาจากไหน สัตว์ต่างๆ ยังมีพ่อแม่ พ่อแม่ของกิเลสเหล่านี้คืออะไร?และอยู่ที่ไหน? ทำไมจึงปรุงแล้วปรุงเล่า คิดแล้วคิดเล่า ทำให้เกิดความสำคัญมั่นหมายขยายทุกข์อยู่ไม่หยุดไม่ถอย?


ความจริงการคิดปรุงก็คิดปรุงขึ้นที่จิต ไม่ได้คิดปรุงจากที่อื่น จงพิจารณาตามเข้าไปโดยลำดับๆ ไม่ลดละร่องรอยอันจะเข้าหาความจริงจนถึงตัว นี่คือการคิดค้นดูเรื่องของกิเลสทั้งมวลด้วยกำลังของสติปัญญาอย่างแท้จริง จนทราบว่าจิตนี้ได้ขาดจากสิ่งใดแล้ว สิ่งใดที่ยังมีความสัมผัสสัมพันธ์ และสนใจอยากรู้อยากเห็นกันอยู่เวลานี้ จึงตามสื่อตามเชื้อนี้เข้าไป กิเลสก็นับวันเวลาแคบเข้ามา ๆ เพราะถูกตัดสะพานที่สืบต่อกับรูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัสสัมพันธ์ และสิ่งต่างๆ ทั่วโลกดินแดน ออกจากใจด้วยสติปัญญาไปเรื่อยๆ จนหายสงสัย เหมือนโลกภายนอกไม่มี เหลือแต่อารมณ์ที่ปรุงยิบแย็บๆ ไปภายในจิตเท่านั้น ซึ่ง “กษัตริย์ใหญ่ตัวคะนอง” ก็อยู่ที่นี้ ตัวปรุงแต่ง ตัวดิ้นรนกระวนกระวายน้อยใหญ่ จึงอยู่ที่นี่


แต่ ก่อนใจดิ้นไปไหนบ้างก็ไม่ทราบ ทราบแต่ผลที่ปรากฏขึ้นมาเท่านั้น ซึ่งไม่เป็นที่พึงใจเลยทุกระยะไป คือมีแต่ความทุกข์ซึ่งโลกไม่ต้องการกัน ใจเราเองก็แบกแต่กองทุกข์จนหาทางออกไม่ได้ เพราะไม่ทราบเงื่อนแก้เงื่อนไขกัน ทีนี้พอทราบแล้ว เรื่องเหล่านี้ค่อยหมดไปสิ้นไป ก็ยิ่งรู้ชัดเห็นชัดที่จิต ซึ่ง”อวิชชา” มา แสดงเป็นตัวละคร เป็นตัวเรื่องราวอยู่ภายในตัวเอง หาที่ยึดที่เกาะอะไรกับภายนอกไม่ได้ เป็นแต่แสดงอยู่ภายในตัว เพราะเหตุใดจึงไม่ยึดไม่เกาะ ก็เพราะสติปัญญาเข้าใจและหว่านล้อมไว้แล้ว จะไปยึดไปเกาะอะไรได้อีก เรื่องมันก็มีแต่ “ยิบแย็บๆๆ” อยู่เฉพาะภายในจิต ยิ่งเห็นได้ชัด กำหนดเข้าไปพิจารณาเข้าไป คุ้ยเขี่ยขุดค้นด้วยสติปัญญาเข้าไปจนรอบตัว ทุกขณะที่อาการของจิตเคลื่อนไหวไม่มีการพลั้งเผลอ ดังสติปัญญาขั้นเริ่มแรกที่ล้มลุกคลุกคลาน


ความ เพียรขณะนี้ไม่ว่าทุกอิริยาบถเสียแล้ว แต่กลายเป็นทุกขณะที่จิตกระเพื่อมตัวออกมา สติปัญญาต้องรู้ทั้งขณะที่กระเพื่อมออก รู้ทั้งขณะที่ดับไป เรื่องราวที่จะเกิดขึ้นขณะที่จิตปรุงแต่งและสำคัญมั่นหมายจึงไม่มี เพราะสติปัญญาประเภทจรวดดาวเทียมตามทันกัน พอกระเพื่อมก็รู้ รู้แล้วก็ดับ เรื่องราวไม่เกิดไม่ต่อ เกิดขึ้นมาขณะใดก็ดับไปพร้อมขณะนั้น ไม่แตกกิ่งแตกก้านออกไปไหนได้ เพราะถูกตัดสะพานออกแล้วจากเรื่องภายนอกด้วยปัญญา


เมื่อสติปัญญาค้นคว้าอยู่อย่างไม่ลดละไม่ท้อถอย ด้วยความสนใจอยากรู้อยากเห็น และอยากทำลายสิ่งที่เป็นภัย ที่ให้ก่อกำเนิดเกิดเป็นสัตว์เป็นบุคคล พาท่องเที่ยวในวัฏสงสาร คืออะไรกัน?อะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้สืบต่อ และมีอยู่ที่ไหนเวลานี้?นี่เรียกว่า “คุ้ยเขี่ยขุดค้น”จิตอวิชชาด้วยสติปัญญา ก็ไม่พ้นที่จะรู้จะเห็นและตัดขาดตัวเหตุปัจจัยอันสำคัญที่ก่อทุกข์ให้แก่สัตว์โลก คือกิเลสอวิชชา ที่แทรกอยู่ในจิตอย่างลึกลับนี้ไปได้ นั่น! เห็นไหม อำนาจของสติปัญญา ศรัทธา ความเพียรขั้นนี้ ที่ผู้ปฏิบัติทั้งหลายไม่เคยคาดคิดมาก่อน ว่าจะเป็นไปได้ถึงขนาดนี้


ที นี้กิเลสเริ่มเปิดเผยตัวขึ้นมาแล้ว เพราะไม่มีที่หลบซ่อน รูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส ซึ่งเป็นที่เคยหลบซ่อนแต่ก่อนไม่มีแล้ว เพราะได้ตัดสะพานออกหมดแล้ว ก็มีที่หลบซ่อนอยู่เฉพาะจิตแห่งเดียวเท่านั้น คือจิตเป็นที่หลบซ่อนของ “อวิชชา” เมื่อค้นคว้าลงไปที่จิตจนแหลกแตกกระจายไปหมดไม่มีอะไรเหลือ เหมือนกับพิจารณาสภาวธรรมทั่วๆ ไปที่เคยดำเนินมาโดยทางปัญญา “จิตอวิชชา” นี่ก็ถูกพิจารณาแบบนั้น สุดท้ายกิเลสชั้นยอดคืออวิชชา จอมกษัตริย์ของวัฏจักร ก็แตกกระจายออกจากใจหมด! ทีนี้เราจะไม่ทราบยังไงว่า ตัวไหนเป็นตัวก่อเหตุให้เกิดภพนั้นภพนี้ ส่วนจะเกิดที่ไหนไม่เกิดที่ไหนนั้นไม่สำคัญ สำคัญที่ตัวนี้เป็นตัวเหตุให้เกิดตายอย่างประจักษ์ใจ


นี้แลการพิสูจน์การตายแล้วเกิดอีก หรือตายแล้วสูญ ต้องพิสูจน์ตัวจิตด้วยการปฏิบัติตามหลักจิตตภาวนา ดังพระพุทธเจ้าและสาวกทรงปฏิบัติและทรงรู้เห็นประจักษ์พระทัยมาแล้ว อย่างอื่นๆ ไม่มีทางรู้ได้ อย่าพากันลูบคลำด้นเดาเกาหมัด จะกลายเป็นขี้เรื้อนเปื้อนไปทั้งตัว โดยไม่เกิดผลใดๆ เลย


เมื่อ ถึงขั้นนี้ เรียกว่าได้ทำลายความเกิดซึ่งเป็นเชื้อสำคัญอยู่ภายใน ออกโดยสิ้นเชิงแล้ว ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปไม่มีสิ่งใดจะสืบต่อก่อแขนงไปอีกแล้ว สติปัญญาขั้น “ธรรมภิสมัย” ทราบได้อย่างสมบูรณ์


นี่แหละที่ว่า “โลกหน้ามีไหม?” คือ ตัวนี้แลเป็นผู้ไปจับจองโลกหน้า ตัวนี้แลเป็นผู้เคยจองโลกที่ผ่านมาแล้ว ตัวนี้แลเป็นตัวที่เคยเกิดเคยตายซ้ำๆ ซากๆ ไม่หยุดไม่ถอย จนไม่สามารถจดจำเรื่องความเกิดความตาย ความสุขความทุกข์ ความลำบากมากน้อยในภพกำเนิดนั้นๆ ของตนได้ คือตัวนี้แล!

กรุณา จำหน้าตาของมันไว้ให้ถึงใจ และขุดค้นฟันลงไปอย่างสะบั้นหั่นแหลกอย่าออมแรง จะเป็นการทำอาหารไปเลี้ยงมันให้อิ่มหมีพีมัน แล้วกลับมาทำลายเราอีก


เมื่อประมวลกิเลสทั้งหลายก็มาอยู่ที่จิตดวงเดียว รวมกันที่นี่ ทำลายกันที่นี่ พอทำลายมันเสร็จสิ้นลงไปโดยไม่มีอะไรเหลือแล้ว ปัญหาเรื่องความเกิดความตาย ความทุกข์ความลำบาก อันเป็นผลมาจากความเกิดความตายนี้ก็ไม่มี รู้ได้อย่างชัดๆ โดย “สนฺทิฏฺฐิโก” อย่างเต็มภูมิ


เรื่องโลกหน้ามีไหม? ก็ หมดปัญหา โลกที่เคยผ่านมาแล้วก็ละมาแล้ว โลกหน้าก็ตัดสะพานขาดกระเด็นออกไปหมดแล้ว ปัจจุบันก็รู้เท่า ไม่มีอันใดเหลืออยู่ในจิตนั้นเลยขึ้นชื่อว่า “สมมุติ” แล้วแม้ละเอียดเพียงไร! นี่แลคือจิตที่หมดปัญหาแท้! การแก้ปัญหาให้จิตก็แก้ที่ตรงนี้ เมื่อแก้ตรงนี้หมดแล้วจะไม่มีปัญหาอะไรอีก!


โลกจะกว้างแสนกว้างหรือมีกี่จักรวาลนั้น เป็นเรื่องหนึ่งต่างหากของ “สมมุติ” ซึ่งหาประมาณไม่ได้ ใจที่รู้รอบตัวแล้วไม่ยุ่งเกี่ยวด้วย


เรื่อง สำคัญที่ทำความกระทบกระเทือนแก่ตนอยู่เสมอมาไม่ลดละกระทั่งปัจจุบัน และจะเป็นไปข้างหน้าก็คือเรื่องของจิต ตัวมีภัยฝังจมอยู่ภายในตัวนี้เท่านั้น เมื่อแก้ภัยนี้ออกหมดแล้ว ก็ไม่มีอะไรจะเป็นพิษเป็นภัยต่อไปอีก เรื่องโลกหน้าโลกหลังจะมีหรือไม่มีนั้นหมดความสนใจที่จะคิด เพราะทราบอย่างถึงใจแล้วว่าตัวนี้หมดปัญหาที่จะไปสืบต่อในโลกไหนๆ อีกแล้ว นี่แหละการเรียนแก้ปัญหาตนเอง จงแก้ลงที่ตรงนี้จะมีทางสิ้นสุดลงได้ ทั้งไม่เป็นโทษภัยแก่ตัวและผู้อื่นแต่อย่างใด


พระ พุทธเจ้าก็ทรงแก้ที่ตรงนี้ สาวกอรหัตอรหันต์ท่านก็แก้ที่ตรงนี้ รู้กันที่ตรงนี้ ตัดได้ขาดโดยสิ้นเชิงที่ตรงนี้ การประกาศองค์ศาสดาขึ้นมาว่า “เป็นผู้สิ้นแล้วจากทุกข์ เป็นศาสดาเอกของโลก”ก็ประกาศขึ้นมาจากความรู้และความหมดเรื่องอันนี้เอง การเรียน”โลก” จบก็จบลงที่จิตอันนี้เอง!การเรียนธรรมจบก็จบโดยสมบูรณ์ที่ตรงนี้


“โลก” คือหมู่สัตว์ สัตว์แปลว่า “ผู้ข้อง” ข้องอยู่ที่จิต ตัดขาดกันตรงนี้ เรียนรู้กันที่นี่ สาวกอรหัตอรหันต์ก็เรียนรู้กันที่นี่อย่างเต็มใจ หมดปัญหา! ท่านเหล่านี้เป็นผู้แก้ปัญหาตก ไม่มีสิ่งใดเหลือหลอเลย


พวกเราเป็นผู้รับเหมากองทุกข์ทั้งมวล เป็นผู้รับเหมาปัญหาทั้งมวล แต่ไม่ยอมแก้ปัญหา มีแต่จะกวาดต้อนเข้ามาแบกหามอยู่ตลอดเวลา กองทุกข์จึงเต็มที่หัวใจอะไรก็ไม่เท่า เพราะไม่หนักเท่าหัวใจที่แบกกองทุกข์ การแบกกองทุกข์และปัญหาทั้งหลายมันหนักที่หัวใจ เพราะเรียนไม่จบ แบกแต่กองทุกข์เพราะความลุ่มหลง!


เรื่อง “วิชชา” คือ ความรู้จริงได้ปรากฏขึ้นแล้ว และทำลายสิ่งที่เป็นภัยทั้งหมดออกจากใจแล้ว ชื่อว่า ‘เป็นผู้เรียนจบ” โดยหลักธรรมชาติ ไม่มีการเสกสรรปั้นยอ ทั้งที่หลอกตัวเองให้ลุ่มหลงเพิ่มเข้าไปอีก แต่การเรียน “ธรรมในดวงใจ” จบ เป็นการลบล้างความลุ่มหลงออกได้โดยสิ้นเชิงไม่มีซากเหลืออยู่เลย


คำว่า ‘ไตรภพ”กามภพ รูปภพ อรูปภพ ก็หมดปัญหาลงในขณะนั้น เพราะมันอยู่ที่ใจ “กามภพ”ก็คือจิตใจที่ก่อตัวด้วยสิ่งนั้น(กาม) “รูปภพ อรูปภพ”ก็คือสมมุติ สิ่งนั้นๆ ในสามภพนี้ฝังอยู่ที่ใจ เมื่อใจได้ถอดถอนสิ่งเหล่านี้ออกไปแล้ว ก็เป็นอันหมดปัญหา นี่แก้ปัญหาแก้ที่ตรงนี้ โลกนี้โลกหน้าอยู่ที่นี่ เพราะการก้าวไปในโลกไหนๆ ก็อยู่ที่นี่ จะก้าวไปรับทุกข์มากน้อย ก็ตัวจิตนี้แล กงจักรเครื่องพัดผันมีอยู่ภายในใจนี้ไม่มีในที่อื่น

พระ พุทธเจ้าจึงทรงสอนลงที่จุดอันถูกต้องเหมาะสมที่สุด คือใจ อันเป็นตัวการสำคัญ สิ่งที่กล่าวมาเหล่านี้มีอยู่กับใคร ถ้าไม่มีอยู่กับเราทุกๆ คน การแก้ถ้าไม่แก้ที่ตรงนี้จะไปแก้ที่ไหนกัน?


สัตว์โลกจำเป็นที่จะต้องไปตามโลกนั้นๆ ด้วยอำนาจแห่งกรรมดี-ชั่วที่มีอยู่กับใจ ผู้ที่จะไปสู่โลกสู่กองฟืนกองไฟคือใจนี้ ถ้าไม่แก้ตรงนี้แล้วก็ไม่พ้นจะไปโดนกองไฟคือความทุกข์ร้อน ถ้าแก้ตรงนี้ได้แล้วก็ไม่มีปัญหาว่าไฟอยู่ที่ไหน เพราะรักษาตัวได้แล้ว มันก็มีเท่านั้น! เหล่านี้เป็นโลกหนักมากสำหรับมวลสัตว์ ปัญหาอะไรเกิดขึ้นมันก็เกิดขึ้นที่ตรงนี้ ว่า “ตายแล้วเกิดหรือตายแล้วสูญ” “โลกหน้ามีไหม?” นรกมีไหม? สวรรค์มีไหม? “บาป บุญ มีไหม?”


ไปที่ไหนมีแต่คำถามว่า “นรก สวรรค์ มีไหม?” เราขี้เกียจจะตอบ ไม่ทราบจะตอบไปทำไมกัน ก็ผู้แบกนรก สวรรค์ ก็คือหัวใจซึ่งมีอยู่กับทุกคนอยู่แล้ว จะตอบไปให้เสียเวล่ำเวลาทำไมกัน เพราะเราไม่ได้เป็น “สมุห์บัญชีนรก สวรรค์ นี่”


แก้ตัวเหตุที่จะไปนรกสวรรค์นี่ซิ! แก้เหตุชั่วและบำรุงเหตุดี คำว่า “ทุกข์” มันก็ไม่มี ถ้าแก้ถูกจุดแล้วมันจะผิดไปไหน! เพราะ “สวากขาตธรรม”สอนให้แก้ถูกจุด ไม่ผิดจุด!คำว่า “นิยยานิกธรรม” ก็เป็นเครื่องนำผู้ที่ติดอยู่ในความทุกข์ร้อนด้วยอำนาจแห่งความลุ่มหลงออกไป ด้วย “สวากขตธรรม” อยู่ แล้ว จะแก้ที่ไหนถ้าไม่แก้ที่จิต ปัญหาอันใหญ่โตก็มีอยู่ที่จิตนี่เท่านั้น ความรู้อันนี้แหละ หยาบก็อยู่กับความรู้นี้ ละเอียดก็อยู่กับความรู้นี้ ทำให้คนหยาบทำให้คนละเอียดก็คือความรู้นี้ เพราะกิเลสเป็นผู้หนุนหลัง ทำให้คนละเอียดใจละเอียด ก็เพราะความดีเป็นเครื่องหนุน ละเอียดจนกระทั่งสุดความละเอียดแล้วก็สุดสมมุติ ยุติด้วยความพ้นทุกข์ ไม่มีเชื้อสืบต่ออีกต่อไป


มีปัญหาที่มีคนมักถามอยู่เสมอว่า การแก้ความขี้เกียจจะแก้วิธีไหน? ถ้า จะเอาความขี้เกียจไปแก้ความขี้เกียจ มันก็เท่ากับสอนคนนั้นให้เป็นข้าศึกกับที่นอนหมอนมุ้งด้วยการนอนจนไม่รู้จัก ตื่น และเหมือนคนนั้นตายแล้วนั่นเอง เพราะความขี้เกียจมันทำให้อ่อนเปียกไปหมดเหมือนคนจะตายอยู่แล้ว จะเอาความขี้เกียจไปแก้ความขี้เกียจอย่างไรกัน เมื่อได้ที่นอนดีๆ ก็เป็นเครื่องกล่อมให้คนนอนจมแบบตายแล้วนั่นเอง ตายอยู่บนหมอน น่ะ! จะว่ายังไง! ตื่น แล้วก็ยังไม่ยอมลุก ก็ความขี้เกียจมันเหยียบย่ำทำลายและบังคับไม่ให้ลุกนี่ การเอาความขี้เกียจไปแก้ความขี้เกียจมันก็เป็นอย่างนั้นแหละ


ถ้า เอาความขยันหมั่นเพียรเข้าไปแก้ ก็ลุกปุ๊บปั๊บขึ้นมาสู้กัน ถ้ามีการต่อสู้มันก็มีหวังชนะจนได้ ถ้ายอมหมอบราบไปเลยมันก็มีแต่แพ้ท่าเดียว แต่จะเรียกว่า “แพ้” หรือเรียกอะไรก็เรียกไม่ถูก เพราะไม่มีการต่อสู้จะว่าแพ้อย่างไรได้ ถ้ามีการต่อสู้ สู้เขาไม่ได้ เช่น คนนี้แพ้ คนนั้นชนะ แต่นี่หาทางต่อสู้ไม่มีเลย ยอมราบไปโดยถ่ายเดียว จะไม่ว่า “บ๋อยกลางเรือนของกิเลส” จะว่าอะไร? มัน ก็บ๋อยกลางเรือนของมันนั่นแหละ จะเอาความขี้เกียจจนเป็นบ๋อยมันไปแก้กิเลส ก็ยิ่งกลับเสริมกิเลสให้มากมูนยิ่งขึ้นจะว่ายังไง! โดยปกติมันก็เต็มหัวใจอยู่แล้ว จะส่งเสริมให้มากมายอะไรอีก จะเอาไปไว้ที่ตรงไหน? ใจก็มีดวงเดียว นอกจากจะแก้มันออกพอให้หายใจได้บ้าง ไม่ยอมให้มันนั่งทับนอนทับจมูกจนหายใจไม่ได้ตลอดไป


จงปลดเปลื้องมันออกพอให้มองดูตัวเองได้บ้างว่า ‘โอ้โห! นับ แต่เริ่มภาวนามาวันนี้เห็นเหลนของกิเลส คือตัวขี้เกียจ หลุดลอยจากตัวไปหนึ่งสะเก็ด เท่ากันกับสะเก็ดไม้หลุดออกจากต้นของมัน วันนี้พอดูตัวเองได้บ้าง ไม่มีแต่กิเลสเอาปากเอาจมูกไปใช้เสียหมด น่าโมโห!”


ความ ขยันหมั่นเพียร ความอุตส่าห์พยายาม โดยทางเหตุผลที่เกิดประโยชน์ เป็นทางของปราชญ์ท่านดำเนินกัน แม้ยากลำบากเราก็สู้ เหมือนถอนหัวหนามออกจากเท้าของเรา เจ็บก็ต้องทนเอา ถ้าจะยอมให้มันฝังจมอยู่อย่างนั้น ฝ่าเท้าก็จะเน่าเฟะไปทั้งเท้าแล้วก้าวไปไหนไม่ได้เลย และเสียกระทั่งเท้าด้วย เพราะฉะนั้นเหตุผลมีอยู่อย่างเดียว คือต้องถอนหนามออกให้ได้! เจ็บขนาดไหนต้องอดทน ถอนหนามออกให้ได้ เหตุผลนี้ต้องยอมรับ เมื่อถอนออกหมดแล้วมันก็หมดพิษ ใส่ยาลงไปเท้าก็จะหายเจ็บ ไม่มีการกำเริบอีกต่อไปเหมือนที่หนามยังจมอยู่


กิเลสก็คือหัวหนามเราดีๆ นี่เอง เราจะยอมให้มันฝังจมอยู่ในหัวใจตลอดเวลา มันก็ฝังจมอยู่อย่างนั้น ใจเน่าเฟะอยู่ใน “วัฏสงสาร” เป็นที่น่าเบื่อหน่ายรำคาญไม่มีที่สิ้นสุด เราต้องการอยู่หรือ? การเป็นคนเน่าเฟะน่ะ จงถามตัวเองอย่าไปถามกิเลส จะเพิ่มโทษเข้าอีก ถ้าไม่ต้องการต้องต่อสู้มัน เมื่อต่อสู้แล้วต้องมีทางชนะจนได้ หรือจะแพ้กี่ครั้งก็ตาม แต่จะต้องมีทางชนะมันครั้งหนึ่งจนได้ ลงชนะครั้งนี้ต่อไปก็ชนะไปเรื่อยๆ ชนะๆๆ เรื่อยไปเลย กระทั่งไม่มีอะไรจะมาให้เราต่อสู้ เพราะกิเลสหมดประตูสู้แล้ว!


คำว่า “ชนะ” นั้นชนะอะไร! ก็ ชนะความขี้เกียจด้วยความขยัน ชนะกิเลสด้วยวิริยธรรมน่ะซี แล้วก็พ้นจากทุกข์ นี่แหละการแก้ปัญหาเรื่องความเกิดตาย คือแก้ที่ดวงใจ มีจุดนี้เท่านั้นที่ควรแก้ที่สุด เป็นจุดที่เหมาะสมอย่างยิ่ง เป็นจุดที่ถูกต้องในการแก้ แก้ที่ตรงนี้ แก้ที่อื่นไม่มีทาง จะสำคัญมั่นหมายไปตั้งกัปตั้งกัลป์ ก็แบกปัญหาพาเกิดพาตายพาทุกข์พาลำบากไปอยู่นั่นแหละ จึงไม่ควรหาญคิดด้นเดาเสียเวลาและตายเปล่า เพราะเป็น “อฐานะ” คือสิ่งเป็นไปไม่ได้ตามความคาดหมายด้นเดา


ว่า “ทุกข์ไม่มี บุญบาปไม่มี หรือทุกข์มี บุญบาปมี” เราก็เสวยกันอยู่ทุกคนไม่มีการหลีกเว้นได้ คำว่า ‘บาป” ก็คือความเศร้าหมองความทุกข์ “คำว่าบุญ” ก็คือความสุขความสบายใจนั่นเอง ก็มีอยู่ในกายในใจของคนทุกคนแล้วจะปฏิเสธอย่างไร? คำว่า “บุญ” ก็ชื่อความสุขนั้นแลท่านให้ชื่อว่า ‘บุญ” ความทุกข์ท่านให้ชื่อว่า “บาป” ทั้งบุญทั้งบาปเราก็สัมผัสอยู่ทุกวันเวลา จะอยู่โลกนี้หรือไปโลกหน้าก็ต้องเจอ “บุญบาป” อยู่โดยดี!


นรกหรือไม่นรกก็ตามเถอะ ถ้ามีทุกข์อยู่เต็มกายเต็มใจแล้ว ใครอยากมาเกิดมาเจอล่ะ? เรา รู้อยู่ด้วยกันอย่างนี้ จะไปถามเรื่องนรกนเรกที่ไหนอีกเล่า เพราะอยู่ด้วยกันอย่างนี้ ทุกข์มันเผาอยู่ที่ไหนก็ร้อนเช่นเดียวกับไฟจี้นั่นแล จี้เข้าตรงไหนก็จี้เข้าซิ มันต้องร้อนเหมือนกันหมด จะว่านรกหรือไม่นรกก็ตามใจ แต่ใครก็ไม่ต้องการ เพราะความทุกข์รู้อยู่กับตัว จะหาสวรรค์ที่ไหน? ให้ยุ่งยากในหัวใจล่ะ


เจอ ความสุขซึ่งเกิดขึ้นจากการปฏิบัติธรรม เฉพาะอย่างยิ่งคือความสุขทางใจ นับตั้งแต่ความสงบเย็นใจขึ้นไปโดยลำดับ จนกระทั่งตั้งหลักตั้งฐานของจิตได้แน่นหนามั่นคงภายในใจ แน่ใจในตัวเอง ยิ่งกว่านั้นเราได้หลุดพ้นไป แล้วจะไปถามหาที่ไหนสวรรค์ นิพพานน่ะ ไม่จำเป็นต้องถาม เรารู้อยู่กับใจของเรา เราเป็นเจ้าของใจ ซึ่งเป็นตัวเหตุตัวการอยู่อย่างชัดๆ และครองกันอยู่เวลานี้ จะไปหากันที่ไหนอีกชื

 
     
      By : คนธรรมดา      (118.175.255.*)  31/07/2011 05:51 PM  
 
 

     
 
       
ชื่อ ::
  *
  รหัส ::   (เฉพาะสมาชิก)
 
อีเมล์ ::
  (สมาชิกไม่ต้องกรอก)
     
Insert Bold text Insert Italicized text Insert Underlined text Insert Centered text Insert a Hyperlink Insert Email Hyerplink Insert an Image Insert Code Formatted text Insert Quoted text
 
รายละเอียด ::
  *
  ใส่รูปแสดงอาการ ::   Confused Idea Smile Wink Coool Love It Cry Devil Kiss Yum Big Grin Smiley Razz Brow
Blue Smile Ek Frusty Eek Weird Look Bawling Angry Fire Red Face Eplus Uh Oh Crying Sinister Tongue Roll Eyes
 
รูปประกอบ ::
  ไม่เกิน 50 Kb
       
     
 
     
 
 Search Word:
Support by http://www.sisaketedu1.go.th
This programe support PHP 4, MySQL Developer by NOKESTUDIO In Thailand
NINEBOARD Vol 3.0 Copyright © 2001-2002 NINETO SOLUTION All Rights Reserved.