http://www.sisaketedu1.go.th/ | หน้าแรก
       

จิตภาวนา หลวงตามหาบัว
     
 

จิตภาวนา…
…หนทางสู่ความสงบเย็นใจ
พระธรรมเทศนา
ของ
ท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสัมปันโน
วัดป่าบ้านตาด อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี
ที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต
วันจันทร์ที่ ๒๑ มีนาคม ๒๕๓๑
คณะศิษย์จัดพิมพ์ถวายท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสัมปันโน
เพื่อแจกเป็นธรรมทาน

ระลึกถึงพระคุณของท่านอาจารย์
วันจันทร์ที่ ๒๑ มีนาคม ๒๕๓๑ ท่านอาจารย์พระมหาบัว
ญาณสัมปันโน ได้กรุณาไปเยี่ยมโรงพยาบาลธรรมศาสตร์
ศูนย์รังสิต และได้แสดงธรรมเทศนาด้วยเมตตาจิตอย่างสูง
นับเป็นศิริมงคล เป็นกำลังใจแก่ผู้ปฏิบัติงานและลูกศิษย์
ของท่านเป็นอย่างมาก ศิษย์ทุก ๆ คนน้อมรำลึกถึงพระคุณ
ของท่านอาจารย์เป็นอย่างสูง
♣♣♣♣♣♣
จิตภาวนา…
…หนทางสู่ความสงบเย็นใจ

วันนี้ได้มีโอกาสมาเยี่ยมท่านทั้งหลายที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ และไปเยี่ยมตามห้องต่าง ๆ เพื่อความสวัสดิมงคล แก่ทั้งผู้ป่วย หมอ ตลอดทั้งพยาบาลทั้งหลาย และเป็นโอกาสอันที่จะได้พูดธรรมะ ให้บรรดาชาวพุทธเราทั้งหลายฟัง
บัดนี้ จะได้พูดธรรมะให้พี่น้องทั้งหลายได้ทราบโดยทั่วกันตามโอกาสอำนวย เพราะเรื่อง ของศาสนธรรม เป็นเรื่องสำคัญมากต่อจิตใจของเราแต่ละท่านที่เป็นชาวพุทธ หากได้นำมาประพฤติปฏิบัติตามหลักศาสนธรรมที่เป็นธรรมะรับรอง เพื่อความราบรื่น ดีงาม ทุกขั้นทุกตอนแล้ว จิตใจของเราก็เท่ากับคนไข้ที่ได้รับการรักษาจากหมอ จากหยูกยาทั้งหลาย นับวันที่จะมีความสงบลงโดยลำดับ และหายเป็นปกติได้ ถ้าไม่ใช่โรคสุดวิสัย เรื่องใจก็เหมือนกัน วันนี้ก้าวเข้ามาสู่โรงพยาบาลนี้ มองเห็นสิ่งต่าง ๆ ซึ่งล้วนแต่เป็นความสะอาด สวยงาม ราบรื่นชื่นใจทุกอย่าง เป็นความสะอาดดีมาก น่าอยู่ น่าเดิน
น่าไป น่ามา น่าดู น่าชม จิตใจของเรา หากได้รับการบำรุงรักษา เพื่อความสะอาดสวยงามดังสิ่งเหล่านี้แล้ว ก็จะเป็นจิตใจที่โล่งโถง เบิกบาน ทรงไว้ซึ่งความสุขเย็นใจต่อเจ้าของ
การที่จะชำระจิตใจของเราให้มีความสะอาดสวยงามเช่นภายนอกนั้นจำเป็นต้องอาศัยหลัก ธรรม คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ที่ได้ทรงดำเนิน และชะล้างจิตใจของสัตว์โลกมานานแสนนาน และได้ผลเป็นที่พอพระทัยมานานแล้ว ถ้าได้นำธรรมะนี้เข้ามาสู่จิตใจเรา พิสูจน์กับใจของเรา ที่มียาพิษ ฝังอยู่ภายใน ซึ่งสร้างความสกปรกโสมมตลอดเวลานั้น ให้รู้เหตุรู้ผลพอประมาณ และกำจัดปัดเป่ากันไปโดยลำดับลำดา ในวันหนึ่งคืนหนึ่ง ผลที่ได้รับเราก็จะเย็นใจ นับแต่ขณะที่ตื่นนอน จนกระทั่งถึงหลับวันนี้เราได้ทุ่มเทจิตใจ คือความคิดปรุงในแง่ต่าง ๆ ไปในทางใดบ้าง เป็นในทางลบหรือทางบวก ทางลบก็คือ สร้างความยุ่งเหยิง วุ่นวายให้แก่ตัวเอง และแสดงออกด้วยทางความเสื่อมเสีย นำผลเป็นทุกข์เข้าสู่ตนเอง นี่เรียกว่าจิตใจของเราไม่ได้รับการเหลียวแล ปล่อยให้สิ่งรกรุงรังเกิดขึ้นภายในจิตใจ และสร้างผลของตัว ให้เป็นทุกข์เดือดร้อนแก่เราอยู่ตลอดเวลา ย่อมจะทำความทุกข์ให้แก่เราอยู่เรื่อยไปวันหนึ่ง คืนหนึ่ง เราทุ่มเทจิตใจไปกับสิ่งเหล่านี้มากมาย เวลาคิดในแง่อรรถแง่ธรรม ซึ่งเป็นสิ่งกำจัดปัดเป่าแก้ไขกันมีน้อย อย่างนี้ผลก็ไม่ทันกัน ด้วยเหตุนี้โลกของเราจึงรุ่มร้อนทั่วหน้ากัน เฉพาะอย่างยิ่งในตัวเรา วันหนึ่ง ๆ ที่จะได้ทรงความสุข สงบ เย็นใจ เพียงกี่นาที เราไม่ต้องพูดถึง ๑ ชั่วโมงแหละ
เพียงนาทีเท่านั้นก็ทั้งยก โลกจึงได้บ่นว่าเป็นทุกข์กัน เพราะมีแต่การสั่งสมความไม่ดีด้วยความคิดต่าง ๆ
ซึ่งเกิดขึ้นในทางด้านจิตใจ โดยปราศจากสติปัญญาทางด้านธรรมะเข้ากำจัดปัดเป่ากันพอให้มีความสงบ
ร่มเย็นบ้าง วันหนึ่ง ๆ ไม่ค่อยมี นี่แหละผลที่พึงได้รับ จึงมักเป็นความทุกข์อยู่เสมอ เฉพาะตัวของเราวันหนึ่ง ๆ ถ้าได้ตรวจดูตัว ด้วยความคิดอ่านไตร่ตรองอย่างนี้บ้าง และทดสอบด้วยอรรถด้วยธรรม

ธรรมคืออะไร คือสติธรรมเป็นสิ่งสำคัญ ระลึกรู้ตัวอยู่เสมอ ในการเคลื่อนไหวไปมาว่า วันนี้
เราทำอะไร การทำของเรา หรือการไปการมา ความเคลื่อนไหวของเรานั้น เคลื่อนไหวไปในทางใดบ้างเป็นไปในทางถูกหรือทางผิด ที่จะนำผลเป็นสุขหรือเป็นทุกข์มาให้เรา เพราะเราเป็นผู้รับผิดชอบเรา หากเราได้ใช้ความพินิจพิจารณาอยู่ด้วยสติ ตรึกตรองด้วยปัญญาอยู่แล้ว เราจะต้องหักห้ามสิ่งที่ไม่ดี ทั้งหลาย ซึ่งจิตอยากจะทำอยู่ตลอดมานั้นให้เบาบางลงไปได้ หรือให้หยุดได้ในสิ่งที่เห็นว่าไม่ควรนั้นเราก็ไม่ทำและหักห้ามด้วยอรรถด้วยธรรม เมื่อเป็นเช่นนั้น เราก็มีความสุข
เฉพาะอย่างยิ่งที่โลกชาวพุทธเราไม่ค่อยจะเข้าใจกัน ก็คือทางด้าน “จิตภาวนา” นี้เป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะการอบรมภาวนานี้ให้ผลเป็นที่พึงใจ แต่เราไม่ได้ทำกันเป็นส่วนมาก ทุ่มเทความคิดความอ่านไปทางอื่นเสีย และเมื่อคิดไปแล้ว เราก็ไม่คำนึงถึงความคิดนั้น ว่าเป็นความคิดที่ผิดหรือถูกประการใด เพราะฉะนั้นความคิดนั้น จึงสร้างความทุกข์ให้แก่เราเรื่อย ๆ ไป “จิตภาวนา” คือการอบรม
จิตใจให้มีความสงบร่มเย็น ระงับดับความคิดที่ไม่เป็นประโยชน์ทั้งหลายเสีย น้อมจิตเข้ามาสู่ความคิดความปรุงที่เป็นอรรถเป็นธรรม ซึ่งจะนำความสงบสุข ร่มเย็นแก่ตนเข้ามาสู่ตนบ้าง วันหนึ่งๆ อย่างน้อย
เราทำจิตภาวนาได้เพียง ๒๐ นาที เป็นอย่างน้อยก็ยังดี วิธีการที่จะทำจิตให้มีความสงบนั้น ท่านมีหลักเกณฑ์ ไม่ใช่คิดไปตามอำเภอใจแล้วก็จะเกิดความสงบสุขขึ้นมา นับเป็นวิถีทางของฝ่ายอธรรม ซึ่งเคยสร้างตัวเองบนหัวใจเรา และนำทุกข์มาให้เราอยู่ตลอดมา ไม่ใช่เป็นทางให้ความสงบร่มเย็น การที่จะทำให้สงบร่มเย็นตามวิถีทางแห่งธรรม ที่ท่านทรงสั่งสอนไว้ ท่านสอนให้
๑. มีสติในขณะที่ทำจิตให้สงบจากงาน คือ ความคิด ความปรุงทั้งหลาย
๒. คำบริกรรมคำใดที่เหมาะกับจริตจิตใจของตน เช่น อาณาปานสติ การกำหนดลมหายใจ
เข้า หายใจออก ด้วยความมีสติอยู่กับลมที่สัมผัส จะสัมผัสส่วนใดมาก เช่น ดั้งจมูก เป็นต้น เราพึงกำหนดให้รู้ลมอยู่ที่สัมผัสในดั้งจมูกนั้น ด้วยความมีสติโดยสม่ำเสมอ ไม่ให้คิดปรุงไปในทางใด ในขณะที่ทำจิตภาวนานั้น ประหนึ่งว่าโลกนี้ ไม่มีกิจการงาน หรือไม่มีสิ่งใดเลย มีเฉพาะอาณาปานสติของเราก็ไม่มีเวลาหรือไม่มีโอกาสที่จะเล็ดลอด ออกไปสู่อารมณ์ภายนอก และสร้างความทุกข์มาให้เราเหมือนแต่ก่อนที่เราไม่ทำการระมัดระวัง ดังที่เราทำจิตภาวนาอาณาปานสติอยู่เวลานี้

จิตมีสติเป็นเครื่องกำกับรักษา ให้ทำงานของตนคือ อาณาปานสติ เป็นต้น หรือ พุธโท คำใดก็ตาม ธรรมโม สังโฆ แล้วแต่จิตใจชอบ ให้มีสติอยู่กับคำบริกรรมนั้น ๆ โดยสม่ำเสมอแล้วจิตของเรา
จะมีความรู้เด่น อยู่กับจุดนั้น คือ คำว่า “พุทโธ” ก็ดี อาณาปานสติก็ดี คือที่ยึดของใจ ได้แก่ ความรู้
ความรู้นี่แหละท่านเรียกว่า “ใจ” หรือเรียกว่า “จิต” ความรู้นี้ถ้าไม่มีสิ่งเกาะ ไม่มีสิ่งยึด ก็ไม่ทราบว่าความรู้ที่แท้จริงนั้นอยู่ที่ไหนเป็นอย่างใดบ้าง จึงต้องอาศัยอารมณ์คือ อาณาปานสติ หรือ พุทโธ คำใดคำหนึ่งเข้ามาเป็นเครื่องกำกับจิต ให้จิตรู้อยู่กับคำว่า พุทโธ หรือให้จิตรู้อยู่กับลมที่สัมผัสเข้าสัมผัสออกสัมผัสอยู่ที่ดั้งจมูกนั้นสืบต่อกัน ความรู้นั้นจะรวมตัวกันเข้ามาสู่จุดนั้น เมื่อความรู้รวมตัวเข้ามาสู่จุดที่เราต้องการ ซึ่งกำลังทำงานอยู่นั้น ได้แก่ อาณาปานสติ เป็นต้น จิตจะสงบเย็นเข้ามา เย็นเข้ามา แล้วประมวลความรู้ทั้งหลาย ซึ่งเคยส่ายแส่ไปยังที่ต่าง ๆ เข้าสู่จุดเดียว คือ อาณาปานสตินั้น แม้ลมจะเคยหยาบมาแต่ดั้งเดิม ตามปกติของลมก็ตาม เมื่อจิตมีความละเอียดจดจ่ออยู่กับลม โดยถ่ายเดียวเท่านั้น ลมจะค่อยละเอียดเข้ามา ละเอียดเข้ามา ความละเอียดของลมนั้น เป็นอาการหนึ่งที่จะให้เกิดความสนใจของความรู้ คือ จิตของเรา ให้จดจ่อกับลมนั้น ด้วยความมีสติแล้วจิตจะสงบเย็นลงไป ลมก็จะเบาลงไปแผ่วเบาลงไปเรื่อย ๆ จนถึงขั้นสงบ
คำว่า “อาณาปานสติ” นี้ เป็นธรรมที่พิศดารอยู่มากเหมือนกันหากว่าจะอธิบายไปทุกแง่ ทุกมุม โอกาสเวล่ำเวลาก็จะไม่พอ จึงขออธิบายเพียงแง่ใดแง่หนึ่ง ที่เป็นหลักเกณฑ์สำหรับท่านผู้ที่สนใจในการบำเพ็ญภาวนา จะได้ยึดหลักในกาลต่อไป คือลมหายใจของเรานั้น แล้วละเอียดลงไป จนกระทั่งขณะนี้จิตของเรา เราอยู่ในโลกใดอย่างนั้นก็มี คือความรู้นี้สงบลงไปอย่างละเอียด ปราศจากรูป เสียงกลิ่น รส อะไรทั้งนั้น ลมหายใจก็หายเงียบไปหมดในเวลานั้น ทรงแต่ความรู้อันเด่นชัดนี้ไว้จากการบำเพ็ญด้วยลม โดยอาศัยลมเป็นเครื่องหนุนจิต เมื่อจิตที่พึ่งตนเองได้แล้ว ลมก็จะหายไปจากความรู้สึกเหลือแต่ความรู้ที่เด่นชัด อยู่ภายในใจ อันเป็นความรู้ที่แปลกประหลาด อัศจรรย์มาก ภายในจิตดวงนั้น
นี่เป็นเรื่องหนึ่งที่จะให้ผู้บำเพ็ญ เกิดความสนใจ ใคร่ที่จะทำภาวนา เพื่อความสงบเย็น แก่ จิตใจของตนยิ่งขึ้น โดยไม่ลดละความเพียร แต่การกล่าวทั้งนี้ กรุณาอย่าได้ยึดเพียงรับทราบไว้เท่านั้นถ้ายึดจะเป็นสัญญาอารมณ์ แต่ให้เกิดขึ้นกับจิตภาวนาของตนเอง ซึ่งจะเกิดขึ้นโดยวิธีการใด ๆ ก็ตามจะนอกเหนือไปจากวงปัจจุบัน คือ การกำหนดลมหายใจเข้าออก ด้วยความมีสตินี้ไปไม่ได้ เราพูดเพียงย่อ ๆ ในจิตภาวนา ที่นี้จิตเมื่อเวลาถึงขั้นที่ละเอียดสุดถึงขนาดนั้นแล้ว ประหนึ่งว่าโลกทั้งหลายไม่มีเพราะอารมณ์ของจิตนี้ไม่ออกมาสู่โลกที่เคยสัมผัสสัมพันธ์กันมากับ รูป เสียง กลิ่น

รส อารมณ์ใด ๆ ก็ตาม นั้นได้ย่นหรือหดตัวเข้าไปสู่ใจโดยเฉพาะแล้ว ไม่มีอดีตที่ผ่านมา อารมณ์อนาคนก็ไม่สร้างขึ้นมาเหลือแต่ความรู้ที่เป็นปัจจุบันแต่ไม่ได้แสดงหรือปรุงเป็นอารมณ์ใด ๆ ขึ้นมา ท่านเรียกว่า “ใจสงบ แนบแน่น” ใจถ้าลงได้สงบถึงขนาดนี้แล้ว ใครก็ใครเถอะ จะไม่ยอมกราบพระพุทธเจ้านั้นเป็นไม่มี ย่อมจะเริ่มกราบราบตั้งแต่ขณะนี้ไป นี้เป็นขั้นเริ่มแรกแห่งการเชื่อพระพุทธศาสนา หรือเชื่อธรรมคำ
สั่งสอนของพระพุทธเจ้า วิธีการที่พระพุทธเจ้าทรงสอนเป็นอย่างนี้ ผลได้ปรากฏตามวิธีการที่ทรงสอน
เพราะการปฏิบัติตามของเรา นี่เป็นเหตุเบื้องต้นที่จะให้เราได้ยึดเป็นหลักปฏิบัติต่อไป
คำว่า “ศรัทธา” ความเชื่อ เป็นอย่างไร หากเรายังไม่มีมากมายในธรรมทั้งหลาย ที่เกิดขึ้น ภายในใจเรามีเพียงความสงบเย็นใจเท่านั้นก่อน ก็เป็นรากฐานอันสำคัญที่จะปลูกศรัทธาความเชื่อ และ “วิริยะ” คือความพากเพียรที่จะทำให้จิต มีความละเอียด สุขุม ยิ่งกว่านี้ก็มีเพิ่มขึ้น ศรัทธา วิริยะ สติ คือความรู้ที่ควบคุมงานของตน ก็มีมากขึ้น เกิดขึ้นในจุดนี้เอง นี่คือหลักของจิตภาวนาที่จะให้พึ่งตนเองได้เพราะใจเป็นของสำคัญในวงงานทั่วไปๆ ไป ไม่ว่าจะเป็นงานภายนอกงานใดก็ตาม ใจเป็นผู้รับผิดชอบทุกสิ่งทุกอย่าง หาใจได้รับการอบรมในทางที่ถูกที่ดีแล้ว งานนั้น ๆ จะเป็นไปในทางราบรื่น ดีงามไม่ค่อยผิดพลาด
ส่วนมากผู้มีจิตภาวนาที่อบรมมาด้วยดีนั้น จะมีความฝักใฝ่ไตร่ตรองในอรรถในธรรมอยู่ โดยสม่ำเสมอ แม้จะทำกิจการงานใดอยู่ก็ตาม เช่น งานอาชีพอันใดก็แล้วแต่เถอะ เรื่องของสติปัญญาซึ่งสัมพันธ์อยู่กับใจเรา ที่เรียกว่า ธรรมภายในใจนี้ จะมีอยู่โดยสม่ำเสมอ ผู้นี้จะเป็นผู้ใคร่ครวญไตร่ตรอง
ในเหตุผลดีชั่วต่าง ๆ ไม่ค่อยทำตามอำเภอใจ หรือไม่ค่อยทำตามความอยาก ซึ่งมีแทรกอยู่ในจิตเป็นประจำของแต่ละคน เมื่อมีธรรมะเป็นเครื่องกลั่นกรองอยู่แล้ว ย่อมจะทราบความเลื่อนไหวของตนได้ดีนี่เป็นหลักสำคัญของผู้นับถือพระพุทธศาสนา เพียงแต่เราจำได้ หมายรู้เรียนจากตำราเฉย ๆ ใน หนังสือ เราก็เชื่อ แต่การเชื่อนี้เป็นการเชื่อในคำบอกเล่า ไม่ได้เชื่อด้วยความรู้จริงเห็นจริงภายในตัวของเราเอง ซึ่งเป็นหลักฐานพยานยืนยันกันกับธรรมะของพระพุทธเจ้า ที่ทรงรู้ทรงเห็นแล้ว จึงสอนโลกแล้วเราปฏิบัติตาม ก็ได้รู้ได้เห็น ดังที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้ แม้จะน้อยนิดเดียวก็ตาม ก็พอเป็นหลักเป็นสักขีพยานแห่งการสั่งสอนของพระพุทธเจ้าได้เป็นอย่างดี นี่ละการปฏิบัติตัวเอง ให้พึงปฏิบัติจิต เป็นของสำคัญ
คำว่า “ธรรม” นั้น เราจะพูดให้ลึกซึ้งก็พูดลำบาก เพราะธรรมละเอียดเหนือสิ่งใด ๆ ในโลก ไม่มีสิ่งใดละเอียดสุขุมยิ่งกว่าธรรม คำว่า “ธรรม” เพียงเท่านั้น ก็เป็นสิ่งที่โลกทั้งหลายตาย

ใจฝากเป็นฝากตายได้ ดังเขาขอความเป็นธรรมที่เห็นอยู่ทั่วไป ด้วยเหตุนี้ ถ้าใจของเรามีธรรมครองใจ ใจของเราก็จะเย็น ความโลภก็จะมีน้อย ความโกรธ ความฉุนเฉียว หงุดหงิด ก็จะมีน้อย ความลุ่มหลงงมงายหาเหตุผลไม่ได้ ราคุตัณหา ความทะเยอทะยาน จนไม่รู้จัก หิริโอตัปปะเป็นอย่างไร คือความละอายต่อบาป ก็จะมีน้อย ใจมีความละอาย รู้จักบาป รู้จักบุญ รู้จักกาลอันควรไม่ควร การแสดงออกทุกแง่ทุกมุม จะเป็นไปด้วยความสวยงาม สมกับที่เป็นชาวพุทธ ผู้มีธรรมครองใจ ถ้าปราศจากธรรมเสียเมื่อไร มนุษย์เราจะลดคุณค่าลงตามลำดับ ๆ ไม่ใช่คำว่า “มนุษย์” แล้วจะเหนือโลกไปเสีย
ทุกสิ่งทุกอย่าง มนุษย์ไม่ได้เหนือโลกด้วยความเป็นมนุษย์ แต่เหนือโลกด้วยความเป็นผู้มีศีล มีธรรม
มีเมตตาจิต รู้จักบาป ร ักบุญ รู้จักคุณ รู้จักโทษต่างหาก นี่มนุษย์เราดีที่ตรงนี้ เยี่ยมที่ตรงนี้ และให้ความ
ร่มเย็นแก่ตนและเพื่อนฝูง ตลอดสังคมทั่ว ๆ ไป จนกระทั่งสัตว์ทั้งหลาย ก็เพราะความมีธรรมในใจ
คนมีความสงบสุข มีความเย็นใจ มีอาหารคือธรรม เครื่องหล่อเลี้ยงจิตใจเป็นที่พอยู่ พอเป็นพอไป ในอิริยาบถต่าง ๆ มีความสุขเป็นเครื่องเสวยโดยธรรมแล้ว ย่อมจะมีเมตตาจิตต่อเพื่อนมนุษย์ตลอดถึงสัตว์ทั้งหลายได้ ตรงกันข้าม เวลาใดมีแต่ความรุ่มร้อนเต็มอยู่ในหัวอกนี่แล้ว เราจะให้ความเย็นใจแก่ผู้อื่นในสถานใดไม่ได้ เพราะตัวเราเป็นฟืนเป็นไฟ ระบายออกมาช่วงใด มุมใด อาการใด ล้วนแล้วแต่ความเป็นฟืนเป็นไฟ ทั้งที่ตนเองก็เข้าใจว่าได้ระบายออกซึ่งทุกข์ทั้งหลาย แต่คนอื่นผู้รับความระบายของตน ก็กลายเป็นฟืนเป็นไฟไปตาม ๆ กัน นี้คือความเป็นผู้มีจิตเดือดร้อน เพราะไม่มีธรรมะครองใจ ย่อมเป็นเช่นนี้ ผู้มีธรรมะครองใจ ย่อมมีความสงบเย็นใจ รู้จักบุญ รู้จักคุณ รู้จักโทษ รู้จักยับยั้งชั่งตวง ในหน้าที่การงาน การเคลื่อนไหวไปมา ทุกสิ่งทุกอย่าง ย่อมจะรู้จักดี รู้จักชั่ว รู้จักลดรู้จักละ รู้จักการประกอบในสิ่งที่ควรประกอบบำเพ็ญ และลดละปล่อยวางในสิ่งไม่ดีทั้งหลาย นี่แหละความเป็นผู้มีธรรมในใจ เป็นผู้มีคุณค่าอย่างนี้
เพราะฉะนั้น เราทุกคน ยิ่งเป็นชาวพุทธด้วยแล้ว ควรจะสร้างคุณค่าหรือค่านิยมขึ้นภายใน ตัวของเรา คนอื่นจะเห็นไม่เห็นไม่สำคัญ สำคัญที่เรานั้นมองดูตัวเราอยู่ตลอดเวลา ว่าบกพร่องสิ่งใดบ้างควรจะส่งเสริมสิ่งบกพร่องให้ดียิ่งขึ้น และควรจะกำจัดปัดเป่า สิ่งที่เป็นฟืนเป็นไฟที่เผาอยู่ในหัวใจนั้นออกโดยลำดับ ด้วยอรรถธรรมของพระพุทธเจ้า เพราะธรรมก็เทียบกับยา เป็นเครื่องกำจัดโรคนั้นเองโรคถ้ามีอยู่กับคนไข้ และคนไข้ชอบของแสลงด้วยแล้ว หมอก็ไม่มี ยาก็ไม่มีคนไข้คนนั้นคอยที่จะตายได้ตลอดกาลสถานที่ หาประมาณ หากฎเกณฑ์ไม่ได้ เพราะไม่มีเครื่องยืนยันรับรอง แต่ถ้ามีหมอมียาเป็นเครื่องรักษาอยู่แล้ว คนไข้ก็รู้จักภัย เชื่อหมอ แล้วคนไข้คนนั้นก็มีทางรักษาให้หายได้ ถ้าไม่ใช่ โรคที่สุดวิสัย นี่ก็เหมือนกัน จิตใจของเราเรียกร้องหาความช่วยเหลือ จากเจ้าของ

คือตัวของเรา ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบอยู่ตลอดเวลา เราจะนำสิ่งใดมาช่วยเหลือจิตใจ ซึ่งเรียกร้องหาความปลอดภัย หรือเรียกร้องหาความเป็นธรรมจากเรา เพราะถูกอธรรม คือ ความโลภ ความโกรธ ความหลง ความผิดพลาด ต่าง ๆ เข้าเหยียบย่ำทำลายอยู่เรื่อยมา เราจะหาธรรมบทใด เราจะหาความดีใด ไปช่วยเหลือจิตใจ ของเราที่เรียกร้องหาเจ้าของอยู่ตลอดเวลานั้นเล่า เพราะถูกทรมานอยู่ตลอด ทำไมว่าทรมาน ก็ความคิดความปรุง ตลอดความผิดพลาดต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากเรา ที่ไม่มีสติธรรม ไม่มีปัญญาธรรมเป็นเครื่องกำกับรักษานั่นแหละ ความเคลื่อนไหวต่าง ๆ จึงเป็นภัยแก่ตัวเราเอง ความโลภเกิดขึ้นก็ไม่รู้จักประมาณทำลายเจ้าของจนฉิบหายป่นปี้ แล้วยังสร้างความหวังลม ๆ แล้ง ๆ ว่า จะร่ำรวย จะดิบจะดีจะเป็นเศรษฐีกระฎุมภี ครองฟ้าครองแผ่นดิน ไปโดยทุกข์ตามบีบคั้นอยู่ทุกขณะ เพราะความยาก ความทะเยอ ทะยานนั้น โดยไม่มีความยับยั้งชั่งตวงอันใดเลย นี่ก็เหยียบย่ำอยู่ตลอดเวลา เราจะหาอะไรมาเป็นเครื่องกำจัด ยับยั้งรั้งตัวให้พอดี ไม่กระวนกระวาย เพราะความอยากฉุดลากไป
ฉะนั้นเราต้องสร้างความรู้จักประมาณไว้ ว่าโลกนี้ ความอยากมีอยู่กับทุกคน แต่ความอยากที่ผาดโผน โลดเต้น ความอยากที่เป็นฟืนเป็นไฟนั้น ปราชญ์ทั้งหลายไม่นิยมกัน ปราชญ์ทั้งหลายเกลียดกลัวกัน เพราความอยากประเภทนี้เคยสร้างฟืนสร้างไฟเผาโลก ให้ฉิบหายป่นปี้มามากต่อมากแล้ว อย่าให้ชาวพุทธของเราไปถูกความโลภ อันไม่รู้จักประมาณนี้ มาเหยียบย่ำทำลายจนกระทั่งถึงวันตาย ยังไม่เห็นโทษของมันเลย ให้เห็นโทษของมันด้วยความรู้จักประมาณ อันใดก็ตามถ้ามีความรู้จักประมาณเข้าไปเป็นเครื่องยับยั้งชั่งตวงแล้ว ย่อมจะมีการยับยั้งตัวได้ ไม่ผาดโผนโลดเต้น และเป็นอาหารของอธรรมไปอย่างป่นปี้โดยไม่รู้สึกตัว ความโกรธก็จะไม่รุนแรง ถ้าเป็นผู้มีธรรม ก็จะมีความยับยั้งชั่งใจได้เพราะความโกรธก็เคยสร้างฟืนสร้างไฟ เผาโลกเผาสงสารมามากต่อมากแล้ว เราอย่าเข้าใจว่าเขาเผาบ้านเผาเมือง เผาวัตถุสิ่งของป่นปี้นั้น ไปจากอะไร อันไฟนั้นเป็นผลอันหนึ่ง ไปจากไฟกิเลสภายในใจคือ ไฟโทสะ ไฟคิดประทุษร้าย ไฟเคียดไฟแค้น ไฟโกรธอย่างแรงกล้านั้นแหละเป็นฟืนไฟ แสดงตัวออกไปเผาบ้านเผาเรือนคนอื่น ให้ป่นปี้ไปหมด นี่ก็เคยลำลายโลกมานานแสนนานแล้ว อย่าได้ทำลายจิตใจชาวพุทธเราจนถึงกับไม่ได้สติสตังเลย ไม่สมกับภูมิแห่งการเป็นลูกศิษย์ตถาคต จงนำธรรมเข้า มารักษาตน ความโกรธกับความเมตตา ความให้อภัยเป็นของคู่เคียงกัน เมื่อโกรธขึ้นมาก ๆ เราก็ให้พิจารณาว่าความโกรธนี้เป็นอย่างไร เวลาที่เกิดขึ้นภายในจิตใจของเรา เรามีความสบายไหม ตั้งแต่ ก่อนที่ความโกรธยังไม่เกิด เรานั่งอยู่ก็สงบ เดินอยู่ก็สบาย นอนอยู่ก็หลับสนิท แต่เวลาความโกรธเกิดขึ้นอย่างรุนแรงเป็นอย่างไรบ้าง นั่งก้นไม่ติดพื้น ยืนคอยแต่จะหกล้มทรงตัวไว้ไม่ได้ เพราะอะไร เพราะจิตใจไม่เป็นตัวของตัว มีแต่ไฟเผาไหม้อยู่ตลอดเวลา หาความสุขความสงบ สบาย ไม่ได้เลย แล้วเรายังจะนำไฟนี้ไปเผาคนอื่น ให้เขาเป็นอย่างเรานี้อยู่หรือ

เมื่อเห็นว่าไฟเป็นของไม่ดีแล้ว เราก็ต้องดับที่เรานี้ก่อน ดับไฟของเรานี้เป็นอย่างไร ให้ดู ที่ตัวโกรธนี้ อย่าไปดูคนที่เราโกรธ อย่าไปดูสิ่งที่เราโกรธ ถ้าไปดูคนที่เราโกรธ จะเหมือนกับไฟเพิ่มเชื้อจะลุกลามขึ้นไปเป็นลำดับ หาที่ยุติไม่ได้ สุดท้ายก็จะเผาไหม้เป็นเถ้าถ่านไปหมด เมื่อย้อนเข้ามาดูตัวของเราที่โกรธอยู่นี่น่ะ เป็นอย่างไรบ้าง เวลานี้เราจะได้ขึ้นสวรรค์วิมานไปถึงพรหมโลก นิพพานด้วยความโกรธนี้ไหม เราถึงได้พอใจโกรธเอานักหนา เวลานี้เราสุขหรือเราทุกข์ ผลที่เกิดขึ้นกับเราเวลานี้เป็นอย่างไรบ้าง ให้เราดูความโกรธของเราที่กำลังเป็นฟืนเป็นไฟอยู่นี้ เมื่อเราดูตัวโกรธของเราที่เป็น ฟืนเป็นไฟอยู่ประจักษ์ใจนี้ ด้วยความมีสติ ด้วยความพินิจพิจารณา ด้วยความเห็นตัวของตัว ด้วยความเป็นผู้มีธรรมเพ่งดูความโกรธของตัวอยู่แล้ว เราจะเห็นโทษของมัน แล้วความโกรธนี้ จะค่อยระงับดับลงไปเป็นลำดับลำดา แล้วไม่กระจายไปสู่คนอื่น ให้ได้รับความฉิบหายไปเช่นกับเราที่ทรงความโกรธอยู่
เวลานี้คือกองเพลิงทั้งกองในหัวใจ นี่ถ้าเราได้คิดอย่างนี้แล้ว ความโกรธก็จะไม่ได้ตั้งหน้าตั้งตามาสร้างบ้านสร้างเรือน สร้างห้องน้ำครัวไฟ สร้างส้วมไว้ถ่ายเทในหัวใจของเราและสร้างไฟเผาหัวใจเราอยู่เรื่อยไป เราจะมีสติระงับยับยั้งมันได้โดย ไม่ต้องสงสัย เพราะธรรมะของพระพุทธเจ้านี้ เคยระงับดับสิ่งเหล่านี้มามากต่อมากแล้ว ไม่มีใครเกิดพระพุทธเจ้า ในการระงับดับต้นไฟ ความโลภก็ดี ความโกรธ
ก็ดี ความหลงก็ดี ราคะตัณหาที่เลยเขตประมาณก็ดี ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่เป็นฟืนเป็นไฟ ที่พระพุทธเจ้า
ทรงระงับดับมันโดยสิ้นเชิง และเห็นทั้งโทษของมัน เห็นทั้งคุณของธรรมที่ระงับดับไฟเหล่านี้ และเห็นคุณค่าของการดับสิ่งที่เป็นฟืนเป็นไฟทั้งหลายอย่างเต็มหัวใจแล้ว จึงได้นำธรรมะเหล่านี้มาสอนโลก เพื่อสิ่งเหล่านี้บรรเทาเบาบางลงไปจากใจ หากไม่ได้อย่างตถาคตก็ตาม ก็ให้ได้อย่างลูกศิษย์ที่มีครู
ขอสรุปความเลยว่า ใจของเรานี้เรียกร้องหาความสนใจ หาความเหลียวแล หาความอบอุ่น หาความปลอดภัยจากเรา คือสติปัญญานี้เป็นเจ้าของของใจดวงนั้นอยู่ตลอดเวลา ถ้าสังเกตแล้วเรา จะทราบ เมื่อเรามีสติปัญญาเป็นธรรมเครื่องรักษาอยู่แล้ว ใจของเราแม้จะโกรธก็จะไม่รุนแรง แม้จะโลภก็จะไม่รุนแรง ยังรู้จักยับยั้งชั่งตวง แม้จะมีราคะตัณหาเหมือนโลกทั่ว ๆ ไปก็ไม่รุนแรง เพราะคนยังไม่สิ้นกิเลส มักจะมีสิ่งเหล่านี้ แต่ให้ระงับดับมันให้อยู่ในความพอดี ตามความจำเป็นที่ละมันยังไม่ได้พึงปฏิบัติต่อมันเหมือนกับไฟของเราที่อยู่ในเตาไฟ ให้รักษาไว้ให้ดีจะอยู่ที่ตรงไหนก็ตาม เช่น ไฟฟ้าไม่ใช่ว่าจะเปิดจ้าอยู่ทุกแห่งทุกหนโดยไม่ระมัดระวัง ไฟฟ้าก็ทำลายโลกได้เช่นเดียวกัน ถ้าไม่มีการรักษา มีแต่การใช้แบบไม่มีสติสตัง ใช้ด้วยความฟุ้งเฟ้อเห่อเหิม โดยถ่ายเดียว ย่อมเป็นอันตรายได้ นี่ไฟกิเลสตัณหาอาสวะ ซึ่งยังดองอยู่ในจิตใจนั้นก็เหมือนกัน เราละยังไม่ได้ก็ยอมรับว่าละ
๑๐
ไม่ได้ กัลยาชนก็มีเยอะ ลูกศิษย์ตถาคต มีอุบาสก อุบาสิกา ภิกษุ สามเณร ผู้สิ้นกิเลสก็มี ผู้ไม่สิ้นกิเลสก็มี ผู้ยังไม่สิ้นก็พยายามรักษาให้อยู่ในความพอดิบพอดี อย่าให้เกินเหตุเกินผล เหมือนกับรักษาไฟไว้ทำประโยชน์ ไฟย่อมจะอำนวยประโยชน์ให้แก่เรา นี้ก็เหมือนกัน ราคะตัณหาที่ท่านเรียกว่ากามคุณ ย่อม มีอยู่กับโลก ถ้าเรารู้จักระมัดระวังรักษา สามีภรรยาอยู่ด้วยกันก็เป็นสุข มีความอบอุ่นต่อกัน นี่ก็เป็นคุณอันหนึ่งของผู้มีราคะตัณหา ซึ่งละยังไม่ได้ แล้วรักษามันไว้ด้วยดี มีคุณต่อเรา ผัวก็รักเมีย เมียก็รักผัวรักลูกรักเต้า รักใครต่อใครก็รักด้วยความเป็นธรรม เห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน มีความซื่อสัตว์สุจริตต่อกัน เมื่อเป็นเช่นนั้นสามีก็เย็นใจ ภรรยาก็เย็นใจ นอนตาก็หลับสนิท ไม่ได้ระแวงแคลงใจว่าสามี จะเป็นอย่างนั้น ภรรยาจะเป็นอย่างนี้ เพราะความล้นฝั่ง ความล้นฝั่งนั้นไม่ใช่หลักการของมนุษย์ผู้มี ศีลธรรม และเฉพาะอย่างยิ่งคือชาวพุทธเราจะนำมาให้ใกล้ชิดติดพันสังหารตน จะเป็นความเสียหายอย่างมากที่เดียว นอกจากนั้นกุลบุตรสุดท้ายภายหลัง จะยึดถือแต่สิ่งไม่ดีนี้ ไปใช้เผาบ้านเผาเมือง ไปที่ไหนมีแต่เรื่องความฟุ้งเฟ้อเห่อเหิม มีแต่ความคึกคะนอง ความสวยงามด้วยศีลธรรมไม่ปรากฏเลย
ก็เท่ากับโลกของสัตว์มนุษย์เราที่ตกนรกทั้งเป็นนั่นเอง ไม่ผิดอะไรกับสัตว์ที่เดินดินอยู่ตามถนนหน
ทางมนุษย์เราจะหาค่ามาจากไหนเมื่อศีลธรรมไม่มีแล้ว
ศีลธรรมต้องมีครองใจ คนเราจึงจะมีคุณค่า เราต้องนำธรรมนี้มาปฏิบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
คือจิตภาวนา ให้มาส่องดูใจของเราเสียบ้าง วันหนึ่งคือหนึ่งอย่างน้อย ๒๐ นาทีก็ยังดี มันคึกคะนองอะไรนักหนา ตั้งแต่โรคในกาย ยังมีเวลาสงบได้ ส่วนโรคหัวใจเรา โรคกิเลส ตัณหาราคะ ความฟุ้งเฟ้อเห่อเหิม คึกคะนองนี้ ทำไมจึงไม่สงบระงับสักที่ ให้ดูตัวนี้แล้วใจจะสงบลงโดยลำดับลำดา จนกระทั่ง
มีความสะดวกสบาย ใจเย็นสบาย นี้คือธรรมเป็นเครื่องรักษา นอกจากนั้นแล้วเราก็ยังพยายามกำจัด มันลงไป ๆ เช่นผู้ปฏิบัติท่าน ดังพระธุดงค์กัมฐาน เราพูดให้เห็นเด่นชัด ก็ท่านเป็นผู้ปฏิบัติธรรม เพื่อความพ้นทุกข์โดยถ่ายเดียวนั้นแล เป็นผู้ที่จะฟัดจะเหวี่ยงกับสิ่งเหล่านี้อย่างเต็มที่เต็มฐาน เรียกว่าชีวิต
จิตใจมอบไว้กับพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ และตายในสนามรบ คือการฆ่ากิเลสโดยถ่ายเดียวเท่านั้น จนได้ชัยชนะมาครองหัวใจ แล้วก็นำธรรมที่สงบหรือความสุขร่มเย็นที่สุด ภายในหัวใจที่เต็มไปด้วยอรรถด้วยธรรม กิเลสไม่มีเลยแม้แต่เม็ดทรายนั้นแลมาสั่งสอนโลก โลกก็ได้รับความร่มเย็นเพราะตัวเองเป็น นำธรรมออกสอนคนอื่น คนอื่นก็เป็น ตัวเองเป็นสุข นำธรรมออกสอนคนอื่น ๆ ก็สุข ใจของตนมีฤทธิ์มีเดช กิเลสมันจะไม่กลัวอย่างไร ใจที่มีฤทธิ์มีเดช มีอำนาจ วาสนา ครองตนด้วยอรรถด้วยธรรม แล้วกิเลสก็ย่อมกลัว ความโลภก็กลัว ความโกรธก็กลัว ความหลงก็กลัว ราคะ
๑๑
ตัณหาก็กลัว สุดท้ายก็ฆ่าได้แหลกหมด ไม่มีเหลือภายในจิตใจ ใจดวงนั้นโล่ง ไม่มีอะไรเสมอเหมือนในโลกนี้นั้นแล ท่านว่า “นิพพานํ ปรมํ สุขํ” ว่านิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง ก็คือใจของผู้สิ้นกิเลสแล้วนั้นและเป็นสุขอย่างยิ่ง ไม่มีสุขใดเข้าแทรกแซง ไม่มีสุขใดเข้าเป็นคู่แข่ง ไม่มีสุขใดเสมอเหมือนสุขที่พ้นจากกิเลส นั้นเลย นี้คือผลแห่งศาสนธรรม ที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศสอนโลกมานานแสนนาน ได้ ๒,๕๐๐ กว่าปีนี้แล้ว
เวลานี้เป็นอย่างไร ใครเป็นผู้ครองธรรม ที่จะทรงความดีงาม สงบร่มเย็นไว้ประดับบ้านเมืองบ้านเรือนของเรา กุลบุตรสุดท้ายภายหลังจะได้ยึดเป็นคติ ตัวอย่างอันดีงามจากบิดามารดา ซึ่งเป็นผู้ครองอรรถครองธรรม ถ้าไม่ใช่เราเป็นผู้ดำเนิน เป็นผู้พาเดินจะเป็นใครไป ถ้าเราเป็นผู้ครองใจของเราด้วยธรรม เราจะมีความสงบร่มเย็นเฉพาะอย่างยิ่งเวลานี้ พวกราคะตัณหา กำเริบเสิบสานเต็มบ้านเต็มเมือง เต็มที่หลับนอน เรายังไม่ทราบอยู่หรือว่า นี่คือไฟเผาไหม้ ทั้งเด็กทั้งผู้ใหญ่ไม่ละเว้นเลย ถ้าไม่มีธรรมภายในจิตใจเป็นเครื่องระงับยับยั้ง ให้รู้จักประมาณความพอดีพองามแล้ว โลกนี้จะฉิบหาย เป็นฟืนเป็นไฟไปโดยไม่ต้องสงสัย กรุณาท่านทั้งหลายได้นำไปพินิจพิจารณา
การกล่าวทั้งนี้ไม่ได้ตำหนิโลก ตำหนิสงสาร คือตำหนิสิ่งที่เป็นข้าศึกต่อจิตใจของเรา ซึ่ง ไม่รู้จักประมาณกับสิ่งเกี่ยวข้องทั้งหลายที่นำมาใช้โดยไม่รู้จักประมาณ จนสังหารตนให้ฉิบหายป่นปี้ไปจึงควรรู้จักประมาณ ถ้าสิ่งใดเห็นว่าเป็นภัยแก่เด็กเล็กทั้งหลายแล้ว ก็ให้พึงระมัดระวัง เพราะเด็กมัน ไม่ผิดอะไรกับสัตว์ มองเห็นอะไร คว้ามับ ๆ และอย่างเด็กเล็กจริง ๆ คว้ามับเข้าปาก คว้ามับเข้าปาก นี้คว้ามับเข้าไปเผาตัวเอง เผาตัวเอง และเด็กกำลังต้องการอยากรู้อยากเห็นทุกสิ่งทุกอย่าง หา หู จมูก ลิ้น กายของเด็ก พร้อมจะรับทราบตลอดเวลา ที่จะศึกษาจากสิ่งที่สัมผัสสัมพันธ์จากผู้ใกล้ชิดกับตน ทั้งพ่อแม่ ผู้ปกครองที่ใกล้ชิด ตลอดจนถึงโรงเรียน ถ้าต่างคนต่างหาสิ่งที่สังหาร บำรุง บำเรอ ที่ตนเข้าใจว่าเป็นสิ่งบำรุงบำเรอ แต่ไม่รู้ว่าเป็นสิ่งที่สังหารตนตลอดทั้งครอบครัว ลูกเล็กเด็กแดงแล้วนั้นแล เด็กจะได้รับความฉิบหาย เรียนมากเท่าไรก็ไม่สำคัญ สำคัญว่าสิ่งที่ดึงดูดต่อความล่มจมนั้น มันมีอำนาจมากว่าการศึกษาเล่าเรียน กว่าวิชาที่นำมาแก้ไขดัดแปลง เพราะเราเรียนแล้ว ยังทะเยอทะยาน เย่อหยิ่งจองหอง ว่าตนมีความรู้ มีความฉลาด ว่าตนเป็นปัญญาชน แต่เป็นปัญญาชนที่ชนดะ ๆ เราไม่ได้คิด ในแง่นี้ ถ้าไม่มีธรรมเป็นเครื่องกำจัดรักษา เป็นเครื่องปกครองใจแล้ว คนเราจะหาความสงบสุขร่มเย็นจะหาคุณค่าไม่ได้ นอกจากคำเสกสรรปั้นยอ ว่าดี ๆ เท่านั้น ตัวคนเป็นเหมือนกับเปรต เหมือนกับนรกจึงขอให้พี่น้องทั้งหลายนำธรรมะของพระพุทธเจ้า เข้าไปส่องกำจัดปัดเป่า สิ่งที่ไม่ดีทั้งหลาย ซึ่งมีอยู่กับหัวใจของทุกคนนั้นแล ให้ออกไปโดยลำดับ ทำอะไรก็ขอให้ทำอย่างมีเหตุมีผล มีแบบมีฉบับ เป็นเครื่องดำเนิน จะเป็นความดี เป็นศิริมงคลต่อตนเอง และลูกเต้าหลานเหลนสืบไป อย่าทำด้วยความอยากความทะเยอทะยาน ซึ่งเป็นนิสัยเคยชินมาแล้ว
๑๒
จากอำนาจของฝ่ายต่ำมันเคยเป็นมาแล้ว สิ่งเหล่านี้เคยทำให้โลกเจริญรุ่งเรือง ได้รับความสงบร่มเย็นพอที่จะนอนใจกับมันได้อย่างไรบ้าง ไม่เคยเห็นมีเลยเพราะฉะนั้นธรรมจึงต้องมีเป็นเครื่องกำจัด เป็นคู่เคียงกัน เช่นเดียวกับโรคมี ถ้าไม่มีหมอไม่มียา คนไข้ตายได้ทั้งนั้น เราอย่าเข้าใจว่าโรคเกิดจะไม่ทำให้คนตาย โรคนั้นแลทำให้ตาย ให้ฉิบหายมามากต่อ มากแล้ว สิ่งที่ยังพอบรรเทากันได้ ก็เพราะมีหมอมียาเป็นเครื่องกำจัดรักษาเท่านั้นเอง เช่นอย่าง โรงพยาบาลนี้ ก็เพื่อจะกำจัดสิ่งที่เป็นภัยมนุษย์เรานั้นแหละ หากไม่มีจะเป็นอย่างไร แล้วคนที่ได้รับความสุข ความสบาย จากโรงพยาบาล จากหมอ ไปมากสักเท่าไรแล้ว ชีวิตรอดไปมากเท่าไรแล้ว เหล่านี้ไม่ต้องพูดกันมาก เราเคยรู้เห็นมานานก็ฉันนั้นเหมือนกัน
ธรรมะคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ให้มีความสงบร่มเย็น และพ้นจากทุกข์โดยลำดับ ตั้งแต่ทุกข์ส่วนย่อยไปถึงส่วนใหญ่ และพ้นไปโดยสิ้นเชิงมา ได้นานแสนนานแล้ว จึงเป็นธรรมที่ไว้วางใจได้สำหรับชาวพุทธ วันหนึ่งๆ ขอให้มีการอบรมจิตใจของตนบ้างว่า จิตนี้เป็นอย่างไร มันแสดงฤทธิ์แสดงเดชอย่างไร อะไรพาให้มันแสดงอยู่ภายในจิตใจนั้น ที่กลิ้งอยู่เหมือนลูกฟุตบอลล์ หาความสงบ เย็นใจไม่ได้เลย เช่นเดียวกับคนที่จะตาย ดิ้นทุรนทุราย จิตใจของเรามันดิ้น ก็ดิ้นเพราะความทุกข์ ทนอยู่ไม่ได้มันก็ต้องดิ้น เมื่อมีธรรมเป็นเครื่องบำบัดรักษาแล้วสงบเย็นใจ ขอให้ท่านทั้งหลายได้นำธรรมนี้ไปประพฤติปฏิบัติ ต้องมีความอดความทนบ้างนั้นแหละ จึงชื่อว่า “การปฏิบัติ” จึงเรียกว่า “การต่อสู้”
ถ้าจะแพ้เฉย ๆ เขาไม่เรียกว่า “การต่อสู้” ต้องสู้เสียก่อนควรแพ้ ค่อยแพ้ วันนี้แพ้ วันหลังเอาให้
ชนะต่อสู้ไปหลายครั้งหลายหนก็เคยชิน ก็มีความชำนิชำนาญมากขึ้น แล้วก็ชนะไป
วันนี้ได้พูดถึงเรื่อง “จิตภาวนา” ให้ท่านทั้งหลายฟัง โดยยกขึ้นมาเพียงอาณาปานสติเท่านั้น
ก็เห็นจะสมควรแก่เวลา ถ้าจะมากกว่านี้ เวลานี้จะไม่เพียงพอ และรู้สึกเหน็ดเหนื่อยแล้ว จึงขอให้นำธรรมะคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านี้ไปเป็นบาทเป็นฐาน เป็นแนวทางเดินของการประพฤติปฏิบัติตัว มีความคิดอ่านไปไตร่ตรองเป็นสำคัญ แล้วเราจะได้รับความสงบเย็นใจ วันหนึ่งๆ เราจะยากลำบากขนาดไหน เราอย่าให้กิเลสไปหาเรื่องมากลบอรรถกลบธรรมในใจที่เราจะพึงได้ พึงถึงนั้น ไปเสียหมด เช่นวันนี้ยุ่งมาก ทำงานไม่ได้ ภาวนาไม่ได้แล้ววันพรุ่งนี้ก็จะมีงามมากขึ้นอีก ทำไม่ได้ภาวนาไม่ได้ หลอก
ไปวันนี้ หลอกไปวันหน้า สุดท้ายก็ตายเปล่า ภาวนาได้ไหม ทีนี้ตายแล้ว ภาวนาได้ไหม ตอนนั้นกิเลสมันไม่เห็นบอกว่า ตายแล้ว ภาวนาไม่ได้นะ ถ้าเราไม่บอกเราเสียแต่บัดนี้ เตือนเราเสียแต่บัดนี้แล้ว เราจะตายทิ้งเปล่า ๆ นะ
๑๓
ธรรมของพระพุทธเจ้า สอนคนไม่ให้ประมาท สอนคนให้ฉลาด ไม่ใช่สอนคนให้โง่ เวลานี้เราโง่อยู่กับกลมารยาของกิเลส ที่มันแทรกอยู่ภายในจิตใจ กลมารยาที่ว่าเหล่านั้น คือเป็นฝ่ายชั่ว เรา ไม่ทันกิเลส ๆ ถึงได้หลอกหลอนอยู่ตลอดเวลา ตั้งแต่วันเกิดตกฟากมาจนกระทั่งถึงป่านนี้ คนเราไม่มีเวลา มันตกฟากมาได้อย่างไร พิจารณาซิ นี่ละที่ว่า เพลงแก้กิเลส เราต้องแก้อย่างนี้ กิเลสมากล่อมมาอย่างไร เราต้องแก้ ตกฟากมาอย่างไร คนไม่มีเวล่ำเวลาจะทำคุณงามความดีเลย แล้วตกฟากมาได้ อย่างไร ตกฟากมาเวลาเท่าไร จากนั้นมาถึงนี้ กี่ปี กี่เดือน ไม่ใช่เวลาจะเอาปีเอาเดือนมาพูดได้อย่างไร นี่เราเกิดมากับเวลา อยู่กับเวลา จนกระทั่งตายก็ตายกับเวลา ทำไมเวลาที่เราจะนำไปประพฤติ ปฏิบัติเพื่อผลอันเลิศภายในจิตใจของเรา เข้าสู้จิตใจของเรา เพื่อเป็นพลังอันสำคัญ ที่จะผลิตการผลิตงาน ให้เป็นไปเพื่อความราบรื่นดีงามในส่วนอื่น ๆ ทำไมเราจะทำไม่ได้ ทำไมจึงให้กิเลสต้มเอาเสียทั้งวัน ทั้งคืน ยืน เดิน นั่ง นอน เราจะตายด้วยความหลงกลอุบายของกิเลสทั้งที่เป็นชาวพุทธ ไม่สมควรแก่ลูกศิษย์ตถาคตเลย
จึงขอให้พี่น้องทั้งหลาย ได้นำธรรมะเหล่านี้ไปพินิจพิจารณา และปฏิบัติตน อย่าให้เสียเวล่ำเวลา ตายแล้วเราจะเป็นสุข เป็นสุขด้วยธรรมะ ไม่ใช่สุขด้วยความโลภ ความโกรธ ความหลง สุขด้วยความรู้เท่าความโลภ ความโกรธ ความหลง สุขด้วยการให้ทาน สุขด้วยการรักษาศีล สุขด้วยการภาวนานี่ผลจะเกิดให้เป็นสุขทั้งนั้น จึงขอให้นำธรรมะนี้ไปต่อสู้กับกิเลสตัวสำคัญ ก็คือตัวไม่มีเวล่ำเวลา และตัวขี้เกียจ ขี้คร้าน ตัวเมื่อย หิว อ่อนเพลีย นั้นแล เป็นตัวสำคัญที่อยู่ปากคอก คอยที่จะออกอยู่ตลอดเวลา ให้ตีตัวนี้ให้แหลกนะ เราจะสบายด้วยการประกอบความเพียร
เอาละเห็นว่าพอสมควรแก่เวลา ขอยุติ เหนื่อยแล้ว
♣♣♣♣♣♣

 
     
      By : คนธรรมดา      (118.175.254.*)  5/03/2011 09:59 PM  
 
 
 
  ความคิดเห็นที่: 1  
     
  ท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสัมปันโน ท่านก็เป็นตัวอย่างอีกท่านหนึ่ง ที่พวกเราควรยึดถือเอาเป็นแบบ อย่าง ทุกสิ่งทุกอย่างที่จะก่อความสงบร่มเย็นรวมอยู่ที่ตัวท่านทั้งหมดถ้ามนุษย์เราคนไทย.....ทำได้เพียงครึ่งประเทศ อนาคตประเทศไทย สงบร่มเย็นแน่นอนรับรองไม่มีเสื้อเหลือง - เสื้อแดง(อย่าเดานะว่าเสื้อสีอะไร)  
     
    By: คนเมืองดอกบัว      (223.207.163.*) 6/03/2011 05:32 AM
 

 
  ความคิดเห็นที่: 2  
     
  ชื่นชมเจ้าของกระทู้มาก ขอให้ความสงบร่มเย็นภายในจิตใจท่านสนองท่านเป็นร้อยเท่าพันเท่า  
     
    By: ครู สพป.ศก.1      (223.207.163.*) 6/03/2011 05:38 AM
 

 
  ความคิดเห็นที่: 3  
     
  ศัตรูที่น่าสะพรึงกลัวที่สุดในชีวิตเรา คือ ตัวเราเอง
ความล้มเหลวที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตเรา คือ ความอวดดี
การกระทำที่โง่เขลาที่สุดในชีวิตเรา คือ การหลอกลวง
สิ่งที่แสนสาหัสที่สุดในชีวิตเรา คือ ความอิจฉาริษยา
ความผิดพลาดมหันต์ที่สุดในชีวิตเรา คือ การยอมแพ้ตนเอง
สิ่งที่เป็นอกุศลที่สุดในชีวิตเรา คือ การหลอกตัวเอง
สิ่งที่น่าสังเวชที่สุดในชีวิตเรา คือ การถดถอยของตัวเอง
สิ่งที่น่าสรรเสริญที่สุดในชีวิตเรา คือ ความอุตสาหะวิริยะ
ความล้มละลายที่สุดในชีวิตเรา คือ ความสิ้นหวัง
ทรัพย์สมบัติที่มีค่าที่สุดในชีวิตเรา คือ สุขภาพที่สมบูรณ์
หนี้ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตเรา คือ หนี้บุญคุณ
ของขวัญที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตเรา การให้อภัยและความเมตตา
ข้อบกพร่องที่ใหญ่หลวงที่สุดในชีวิตเรา คือ การมองโลกในแง่ร้าย และไร้เหตุผล
สิ่งที่ทำให้อิ่มอกอิ่มใจมากที่สุด คือ การให้.......
...โดยเฉพาะการให้คติธรรม...ขอให้ตั้งใจที่จะเป็นผู้ให้ต่อไป...
 
     
    By: คนไม่สำคัญ      (113.53.214.*) 6/03/2011 09:55 AM
 

 
  ความคิดเห็นที่: 4  
     
  ความคิดเห็นที่ 3 ก็คลิกแล้วจ๊า........  
     
    By: ครูคนหนึ่ง      (223.205.97.*) 6/03/2011 04:52 PM
 


     
 
       
ชื่อ ::
  *
  รหัส ::   (เฉพาะสมาชิก)
 
อีเมล์ ::
  (สมาชิกไม่ต้องกรอก)
     
Insert Bold text Insert Italicized text Insert Underlined text Insert Centered text Insert a Hyperlink Insert Email Hyerplink Insert an Image Insert Code Formatted text Insert Quoted text
 
รายละเอียด ::
  *
  ใส่รูปแสดงอาการ ::   Confused Idea Smile Wink Coool Love It Cry Devil Kiss Yum Big Grin Smiley Razz Brow
Blue Smile Ek Frusty Eek Weird Look Bawling Angry Fire Red Face Eplus Uh Oh Crying Sinister Tongue Roll Eyes
 
รูปประกอบ ::
  ไม่เกิน 50 Kb
       
     
 
     
 
 Search Word:
Support by http://www.sisaketedu1.go.th
This programe support PHP 4, MySQL Developer by NOKESTUDIO In Thailand
NINEBOARD Vol 3.0 Copyright © 2001-2002 NINETO SOLUTION All Rights Reserved.